ตลท. 30 พ.ย. – นายกสมาคมกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ จี้รัฐเร่งตั้งกองทุนบำเหน็ญบำนาญแห่งชาติโดยเร็ว เพื่อดูแลชีวิตหลังเกษียณ
ในการเสวนา “เรามีความพร้อมหรือยังกับการมีกองทุนบำเหน็จบำนาญแห่งชาติภาคบังคับ” นายพิสิฐ ลี้อาธรรม นายกสมาคมกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ กล่าวว่า กองทุนบำเหน็จบำนาญแห่งชาติภาคบังคับ (กบช.) มีความจำเป็นสำหรับประเทศไทย เนื่องจากประเทศไทยกำลังก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุต้องใช้งบประมาณจำนวนมากในการดูแลสุขภาพและสวัสดิการของผู้สูงวัยที่มีจำนวนเพิ่มมากขึ้น ขณะที่อัตราการออมของคนไทยยังต่ำ ซึ่งไม่เพียงพอสำหรับใช้หลังเกษียณ ดังนั้น ขอให้รัฐบาลเร่งผลักดันให้มีการจัดตั้ง กบช.ภาคบังคับโดยเร็ว เพื่อให้ชีวิตหลังเกษียณของผู้ประกันตนมีความมั่นคงและมีความสุข ไม่เช่นนั้นจะมีรายได้ไม่เพียงพอในการดำรงชีพ
นางสาวสุปาณี จันทรมาศ ผู้เชี่ยวชาญด้านการออมการลงทุน และพัฒนาตลาดทุน สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) กล่าวว่า ขณะนี้ร่างพระราชบัญญัติกองทุนบำเหน็จบำนาญแห่งชาติ ผ่านการพิจารณาของสำนักงานกฤษฎีกาทั้ง 3 วาระแล้ว อยู่ระหว่างการเสนอกลับไปให้กระทรวงการคลังยืนยัน เพื่อนำเสนอสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ตั้งกรรมาธิการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวอีกครั้ง คาดว่าจะมีผลบังคับใช้ปี 2561 และให้เวลาบริษัทเอกชน 1 ปี ในการเตรียมตัว ก่อนที่นายจ้างจะต้องเริ่มส่งเงินสมทบเข้ากองทุนไตรมาส 1-2 ในปี 2562
นางสาวสุปาณี ยืนยันว่า กบช.มีความจำเป็นในการดูแลรายได้หลังเกษียณ เพราะปัจจุบันผู้ประกันตนในระบบที่ส่งเงินเข้ากองทุนประกันสังคมประมาณ 11 ล้านคน มีสมัครเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพภาคสมัครใจเพียง 3 ล้านคน ส่วนอีก 8 ล้านคนส่งเงินเข้ากองทุนประกันสังคมเพียงช่องทางเดียว มีรายได้หลังเกษียณเพียงร้อยละ 19 -20 ของเงินเดือนเดือนสุดท้าย ซึ่งไม่เพียงพอ ดังนั้น 8 ล้านคนจึงเป็นเป้าหมายที่จะดึงเข้ากบช. เพื่อให้คุณภาพชีวิตหลังเกษียณมีรายได้ประมาณร้อยละ 50-60 ของรายได้ก่อนเกษียณ ถึงจะเพียงพอใช้จ่าย
นางสาวสุปาณี กล่าวว่า เมื่อร่างพระราชบัญญัติกองทุนบำเหน็จบำนาญแห่งชาติ มีผลบังคับใช้ พนักงานใหม่และพนักงานเดิมที่ไม่ได้เป็นสมาชิกของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพต้องถูกบังคับให้เป็นสมาชิก กบช.โดยบังคับและต้องส่งเงินเข้า กบช.เริ่มต้นที่ร้อยละ 3 ส่วนพนักงานเดิมที่เป็นสมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพอยู่แล้วกฎหมายจะกำหนดให้ส่งเงินเข้ากองทุนไม่ต่ำกว่าร้อย 3 เช่นกัน
สำหรับในร่างกฎหมายของ กบช.อัตราการส่งเงินที่เหมาะสมของลูกจ้างและนายจ้างสูงสุดได้ไม่ควรเกินร้อยละ 15 ของค่าจ้าง โดยปีที่ 1-3 ส่งได้ไม่น้อยกว่าฝ่ายละร้อยละ 3 ของค่าจ้าง และปีที่ 4-6 ส่งเงินไม่น้อยกว่าร้อยละ 5 ของค่าจ้าง และปีที่ 7-9 ส่งไม่น้อยกว่าร้อยละ 7 ของค่าจ้างจะเพียงพอในยามเกษียณ และจะได้เงินบำนาญต่อเมื่อเกษียณอายุเท่านั้น โดยสมาชิกจะสามารถเลือกบำนาญ 20 ปี หรือบำเหน็จเมื่ออายุครบ 60 ปี. – สำนักข่าวไทย