กรุงเทพฯ 26 พ.ย. – ก.อุตฯ เด้งรับโครงการเมืองต้นแบบ “สามเหลี่ยมมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน” ผ่าน ศอ.บต. เชื่ออีก 6 เดือน ผุดเมืองต้นแบบเกษตรอุตสาหกรรม 3.6 พันไร่ ลงทุน 1.2 หมื่นล้านบาท ในพื้นที่เซฟตี้โซน
นายสุรพล ชามาตย์ หัวหน้าผู้ตรวจราชการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยในฐานะรองโฆษกกระทรวงอุตสาหกรรม ว่า ตามที่จะมีการประชุมคณะรัฐมนตรีนอกสถานที่ หรือ ครม.สัญจร วันที่ 28 พฤศจิกายน 2560 จังหวัดสงขลา ทางศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) จะนำเสนอความก้าวหน้าของโครงการเมืองต้นแบบ “สามเหลี่ยมมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน” เพื่อพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ให้เป็นพื้นที่เศรษฐกิจเฉพาะ นำร่องในพื้นที่ที่มีความพร้อมด้านความปลอดภัย โดยกระตุ้นให้เกิดการลงทุนนำไปสู่การสร้างธุรกิจอุตสาหกรรม เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตจากการสร้างงานและรายได้ให้กับประชาชนในพื้นที่ ซึ่งพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี จะเดินทางไปเยี่ยมชมพื้นที่เกษตรอุตสาหกรรมแปรรูปโรงงานน้ำมันปาล์ม ตำบลบางเขา อำเภอหนองจิก จังหวัดปัตตานี ที่ได้รับการคัดเลือกตามโครงการเมืองต้นแบบดังกล่าว ด้วย
สำหรับเมืองต้นแบบเกษตรอุตสาหกรรมก้าวหน้าผสมผสานเป็นการร่วมทุนระหว่างเอกชนรายใหญ่และเอกชนในพื้นที่หลายแห่ง เพื่อดำเนิน 4 ธุรกิจ วงเงินประมาณ 12,000 ล้านบาท ได้แก่ ธุรกิจการเกษตร ธุรกิจผลิตไฟฟ้า ธุรกิจรับเหมาก่อสร้าง และธุรกิจบริการ โดยมีการดำเนินการที่น่าสนใจ คือ การปลูกปาล์ม 5,000 ไร่ มะพร้าว 5,000 ไร่ ทั้ง 2 เป็นพืชเศรษฐกิจที่ใช้น้ำน้อย โดยเฉพาะมะพร้าวแปรรูปได้ทั้งมะพร้าวน้ำหอมและมะพร้าวกะทิ ซึ่งทางภาคเอกชนมีความต้องการ เช่น บริษัท อำพลฟู้ดส์ และกลุ่มธุรกิจอิชิตัน การปศุสัตว์ เช่น เลี้ยงแพะ ซึ่งสัมพันธ์กับวิถีชีวิตชาวมุสลิม ประกอบกับมาเลเซียมีความต้องการเนื้อแพะเพื่อการบริโภคแต่ผลิตไม่เพียงพอ โดยเกษตรกรจะมีรายได้เฉลี่ยเดือนละ 12,000 บาทต่อการเลี้ยงแพะ 100 ตัว รวมทั้งการเลี้ยงไก่เบตงที่ตลาดในและต่างประเทศมีความต้องการสูงเช่นกัน และการตั้งโรงไฟฟ้าชีวมวล โดยใช้ของเสีย วัสดุเหลือทิ้งจากการแปรรูปผลิตภัณฑ์ปาล์มและมะพร้าวสามารถนำไปผลิตกระแสไฟฟ้าได้
นายสุรพล กล่าวว่า ในส่วนกระทรวงอุตสาหกรรมพร้อมให้การสนับสนุนโครงการดังกล่าวอย่างเต็มที่ โดยเฉพาะการขออนุญาตตั้งเป็นเขตประกอบการอุตสาหกรรมของกลุ่มบริษัท ปาล์มพัฒนาชายแดนใต้ จำกัด ที่แจ้งความประสงค์จะพัฒนาพื้นที่ 3,600 ไร่ ให้กลายเป็นเมืองต้นแบบเกษตรอุตสาหกรรม ภายในจะมีโรงงานสกัดน้ำมันปาล์ม โรงงานปุ๋ย โรงงานไบโอแก๊ส โรงงานผลิตวัสดุก่อสร้าง และกำลังยื่นโรงงานแปรรูปน้ำมะพร้าว โดยเป็นไปตามนโยบาย 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย (เกษตรแปรรูป)
“การประกาศตั้งเขตประกอบการอุตสาหกรรมเป็นอำนาจของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ตามมาตรา 30 แห่ง พ.ร.บ.โรงงาน พ.ศ.2535 กำหนดให้โครงการฯ ต้องทำการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (EIA) ซึ่งกระทรวงฯ และการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) พร้อมเป็นพี่เลี้ยงให้คำปรึกษาแนะนำและช่วยวางระบบทั้งหมด เพื่อให้การขออนุญาตดังกล่าวเป็นไปตามกฎหมาย ประเมินกันว่าหากทุกฝ่ายเร่งดำเนินการจะใช้เวลาเพียงแค่ 6 เดือนเท่านั้นและกระทรวงฯ จะช่วยชักชวนนักลงทุนด้วย เพราะเห็นศักยภาพของพื้นที่ ซึ่งมีทำเลดี มีความสมบูรณ์ของวัตถุดิบและแรงงาน ตระหนักดีว่าภาคธุรกิจต้องการความปลอดภัยพื้นที่ดังกล่าวอยู่ในพื้นที่สีเขียวมีความปลอดภัยและมี ศอ.บต. ดูแลความปลอดภัยและคอยอำนวยความสะดวกทุกอย่างเป็นอย่างดี” นายสุรพล กล่าว