ทำเนียบฯ 23 พ.ย. – บอร์ดบีโอไอออกแพ็คเก็จใหม่ส่งเสริมการลงทุนในพื้นที่อีอีซี เริ่มให้สิทธิ์ 1 ม.ค.61 ยกเว้นภาษีนาน 10 ปี หนุนเอสเอ็มอีเข้าสู่ตลาดเอ็มเอไอ พร้อมส่งเสริมกิจการ “ศูนย์กลางการค้าและพัฒนาผลิตภัณฑ์แบบครบวงจร” ลงทุนใน SEZ ชายแดน เพื่อดันไทยเป็นศูนย์กลางการค้าและการลงทุนในภูมิภาค
นางสาวดวงใจ อัศวจินตจิตร์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการบีโอไอ ที่มีพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน มีมติเห็นชอบมาตรการส่งเสริมการลงทุนกลุ่มเป้าหมายในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2561 ถึง 30 ธันวาคม 2562 โดยปรับปรุงเงื่อนไขการส่งเสริมเพิ่มต้องลงทุนในกิจการเป้าหมายในพื้นที่พิเศษของอีอีซี 3 ระดับ ได้แก่ 1.การลงทุนในเขตส่งเสริมเพื่อกิจการพิเศษในเขตเมืองการบินภาคตะวันออก (สนามบินอู่ตะเภา) ผลักดันให้เป็นศูนย์กลางด้านการบิน อากาศยานและอวกาศในภูมิภาค
การลงทุนเขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซีไอ) เพื่อพัฒนาให้เป็นศูนย์กลางด้านการวิจัยและพัฒนา นวัตกรรมระดับสากล และลงทุนในเขตส่งเสริมอุตสาหกรรมและนวัตกรรมดิจิทัล (อีอีซีดี) เพื่อส่งเสริมให้เป็นศูนย์กลางด้านการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมด้านดิจิทัล เมื่อขยายลงทุนใน 3 เขตดังกล่าวจะได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลเพิ่มอีก 2 ปี จากเกณฑ์ปกติ (รวมสิทธิประโยชน์เดิมเกิน 8 ปี ) รวมได้รับยกเว้น 10 ปี และลดหย่อนอีกร้อยละ 50 เป็นระยะเวลา 5 ปี บอร์ดบีโอไอกำหนดเงื่อนไขเพิ่มว่าภาคเอกชนใน 3 พื้นที่ต้องลงทุนจัดโปรแกรมพัฒนาบุคลากรด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี อาชีวะร้อยละ 50 ของพนักกงาน หรือขั้นต่ำ 50 คน ตามเหมาะสมของประเภทอุตสาหกรรม
2.กรณีลงทุนในเขตส่งเสริมเพื่อกิจการอุตสาหกรรมเป้าหมาย เป็นอุตสาหกรรมต่าง ๆ พัฒนาขึ้นเพื่อรองรับอุตสาหกรรมเป้าหมายเป็นการเฉพาะจะได้รับการลดหย่อนภาษีเงินได้นิติบุคคลร้อยละ 50 เพิ่มอีก 5 ปีหลังสิ้นสุดระยะเวลายกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลตามเกณฑ์ปกติ 3.กรณีลงทุนในนิคมอุตสาหกรรมหรือเขตอุตสาหกรรมทั่วไปที่ได้รับการส่งเสริมในพื้นที่อีอีซีจะได้รับการลดหย่อนภาษีเงินได้นิติบุคคลร้อยละ 50 เพิ่มอีก 3 ปี หลังสิ้นสุดระยะเวลายกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลตามเกณฑ์ปกติ โดยต้องลงทุนพัฒนาบุคลากรด้านเทคโนโลยีร้อยละ 5 ของพนักงานหรือขั้นต่ำ 25 คน
นอกจากนี้ ยังส่งเสริมเอสเอ็มอี เข้าถึงแหล่งเงินทุนจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์เอ็มเอไอได้รับวงเงินภาษีที่ได้รับยกเว้นเพิ่มอีกร้อยละ 100 มาตรการส่งเสริมเอสเอ็มอีดังกล่าวนี้จะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2561 ถึง 30 ธันวาคม 2563 และสิทธิ์ยกเว้นภาษีที่เหลืออยู่หลายโครงการสามารถใช้สิทธิ์ควบคู่กันไปด้วย รวมทั้งยังเปิดส่งเสริมกิจการ “ศูนย์กลางการค้าและพัฒนาผลิตภัณฑ์แบบครบวงจร” เพื่อเสริมให้มีการลงทุนในพื้นที่พัฒนาเศรษฐกิจพิเศษชายแดน เพิ่มช่องทางการจัดจำหน่ายสินค้า และต่อยอดโอกาสทางการตลาด ทำให้ไทยก้าวเป็นศูนย์กลางการค้าครบวงจรในภูมิภาค กำหนดให้ยื่นขอรับส่งเสริมภายในวันที่ 30 ธันวาคม 2561 เพื่อเร่งรัดให้มีการลงทุนโดยเร็ว
ส่วนกรณีโครงการที่ตั้งในพื้นที่ในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ (SEZ) ชายแดน 10 จังหวัดจะได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 8 ปี (กำหนดวงเงินที่ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลร้อยละ 100 ของเงินลงทุนโดยไม่รวมค่าที่ดินและทุนหมุนเวียน) และได้รับลดหย่อนภาษีเงินได้นิติบุคคลอีกร้อยละ 50 เป็นเวลา 5 ปี หลังสิ้นสุดระยะเวลายกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล กรณีโครงการที่ตั้งในพื้นที่นอกเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ ซึ่งจะต้องลงทุนในพื้นที่ SEZ อย่างน้อย 1 แห่งควบคู่กันไปจะได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 5 ปี (กำหนดวงเงินที่ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลร้อยละ 100 ของเงินลงทุนโดยไม่รวมค่าที่ดินและทุนหมุนเวียนของโครงการที่ลงทุนในพื้นที่ SEZ เพื่อเพิ่มโอกาสการลงทุนของผู้ประกอบการรายใหญ่ที่มีศักยภาพมาช่วยพัฒนาผู้ประกอบการรายย่อยได้มากขึ้น
ทั้งนี้ บอร์ดอีอีซีตั้งเป้าหมายส่งเสริมการลงทุนประมาณ 100,000 ล้านบาทต่อปี แต่ขณะนี้มียอดขอรับการส่งเสริมการลงทุนในเขตอีอีซีเดือนกันยายน 104,000 ล้านบาท จึงต้องการให้ภาคเอกชนที่ประเมินสิทธิ์รับการส่งเสริมบีโอไอสอดคล้องกับกิจการยื่นขอรับการส่งเสริมปลายปีนี้ นอกจากนี้ บีโอไอยังพร้อมส่งเสริมด้วยมาตรการอื่นเพิ่มนอกจากมาตรการทางภาษี ได้แก่ ร่วมกับสถาบันการเงิน โดยส่งข้อมูลของเอสเอ็มอีที่บีโอไอให้การส่งเสริม พิจารณาปล่อยสินเชื่อ และนำผู้เชี่ยวชาญต่างชาติ จากเอกชนรายใหญ่ มาช่วยให้ความรู้กับเอกชนรายอื่นเพิ่มและได้ลงนามร่วมกับสถาบันการศึกษานำบทวิจัยมาใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์มากขึ้น.-สำนักข่าวไทย