รัฐสภา 22พ.ย.-กมธ.ร่าง พ.ร.ป.ศาล รธน. ไม่เซ็ตซีโร่ตุลาการศาล อ้างไม่ใช่องค์กรอิสระ และชี้ปลดศาลถือเป็นเรื่องใหญ่ แม้บางคนคุณสมบัติไม่เป็นไปตาม รธน.ใหม่ แต่อ้างว่ามาตาม รธน. 50
นายสมคิด เลิศไพฑูรย์ ประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ…. กล่าวว่า ตำแหน่งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ มีทั้งหมด 9 คน 4 คนยังอยู่ในวาระ ส่วนอีก 5 คนพ้นจากตำแหน่งไปแล้ว แต่ตามมาตรา 44 ให้อยู่ต่อไปชั่วคราวจนกว่าจะมีศาลรัฐธรรมนูญชุดใหม่ ทั้งนี้คณะกรรมาธิการฯ เสียงข้างมาก เห็นว่า ตุลาการทั้ง 4 คนให้อยู่ต่อไปจนครบวาระ ไม่ต้องดูตามคุณสมบัติ ตามรัฐธรรมนูญ ปี 2560 เพราะเข้ามาตามรัฐธรรมนูญปี 2550 คุณสมบัติครบถ้วนทุกอย่าง และถือเป็นศาล ไม่ได้เป็นองค์กรอิสระ หากให้ศาลพ้นออกจากตำแหน่ง ถือเป็นเรื่องใหญ่มาก อาจจะถูกวิพากษ์วิจารณ์
นายสมคิด กล่าวว่า ส่วนตุลาการศาลรัฐธรรมนูญอีก 5 คนที่ครบวาระแล้ว คณะกรรมาธิการฯ เสียงส่วนใหญ่เห็นว่า จะต้องสรรหาบุคคลมาแทน แต่มีความเห็นต่าง เนื่องจากต้องใช้ระยะเวลาการสรรหาเหมือนกับคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน ดังนั้นในมาตรา 77 และ 78 ในเรื่องการสรรหาตุลาการศาลรัฐธรรมนูญได้มีความเห็นเป็น 3 ฝ่าย คือ 1. กรธ.ที่นั่งอยู่ในกรรมาธิการยืนยันร่างเดิม คือให้ 5คนพ้นวาระและสรรหาทันที 2.มีการแปรญัตติ ให้ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญทั้ง 5 คนที่พ้นตำแหน่งไปแล้วอยู่ไปจนกว่ามีการสรรหาใหม่ โดยสรรหาไปตามขั้นตอน และ 3.มีอีกส่วนที่แปรญัตติให้ 5 คนอยู่ต่อจนกว่าจะมีคณะกรรมการสรรหาชุดใหม่ ซึ่งหากเป็นไปตามองค์ประกอบของรัฐธรรมนูญปี 2560 จะต้องรอจนกว่าจะมีประธานสภาผู้แทนราษฎรและผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งไม่ชัดเจนว่าจะมีการเลือกตั้งเมื่อไร จึงมองกันว่าอาจจะต้องใช้เวลานาน ดังนั้นคณะกรรมาธิการฯเสียงส่วนใหญ่จึงเห็นด้วยกับขั้นตอนที่ 2 สอง อย่างไรก็ตาม จะต้องมีการอภิปรายและน่าจะได้ข้อสรุปกันในที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) วันพรุ่งนี้ (23 พ.ย.)
“องค์ประกอบของศาลรัฐธรรมนูญมีทั้งหมด 9 คน 3 คนมาจากศาลฎีกา 2 คนมาจากศาลปกครอง 1 คนมาจากนิติศาสตร์ 1 คนมาจากรัฐศาสตร์ และ 2 คนมาจากผู้ทรงคุณวุฒิ เครื่องทั้งหมดถูกเลือกให้เข้ามาเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ การปลดให้ออกจากตำแหน่งเป็นเรื่องใหญ่มาก ซึ่งการทำงานไม่เหมือนกับการเซ็ตซีโร่ กสม. ป.ป.ช. หรือ องค์กรอื่น เพราะถือว่าเขาเป็นศาล” นายสมคิด กล่าว.-สำนักข่าวไทย