กรุงเทพฯ 12 ก.พ.-“ประวิตร” เผยศาลปกครองเตรียมสรรหาผู้เหมาะสมเป็นตุลาการศาล รธน.ให้เสร็จภายใน 60 วัน ชี้ หากไม่มีใครสมัครใจ มีแนวโน้มมีตุลาการศาล รธน.ทำหน้าที่แค่ 8 คน
วันนี้(12ก.พ.)นายประวิตร บุญเทียม ตุลาการหัวหน้าคณะศาลปกครองสูงสุด โฆษกศาลปกครอง กล่าวถึง การที่ที่ประชุมสมาชิกวุฒิสภา(ส.ว.)ไม่เห็นชอบนายชั่งทอง โอภาสศิริวิทย์ ตุลาการศาลปกครองสูงสุด เป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ว่า กรณีนี้มาตรา 12 พ.ร.ป.ว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ 2561 กำหนดว่า เมื่อที่ประชุมวุฒิสภาไม่ให้ความเห็น ชอบผู้ได้รับการเสนอชื่อให้ส่งชื่อกลับไปยังที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุดพร้อมด้วยเหตุผล เพื่อให้ดำเนินการสรรหาหรือคัดเลือกบุคคลใหม่แทนโดยต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 60 วันนับแต่วันที่วุฒิสภาไม่ให้ความเห็นชอบ ดังนั้นจึงต้องนับวานนี้ ( 11 ก.พ.) เป็นวันแรกของกรอบระยะเวลา 60 วัน ซึ่งเมื่อศาลปกครอง ได้รับหนังสือแจ้งพร้อมเหตุผลแล้ว ก็จะต้องเรียกประชุมและกำหนดวิธีการในการสรรหา ครั้งที่แล้วใช้วิธีการ ให้ตุลาการศาลปกครองสูงสุดสมัคร โดยคุณสมบัติเป็นไปตามรัฐธรรมนูญ ครั้งนี้ก็น่าจะใช้วิธีการเดียวกัน
ทั้งนี้ถ้าหากเหตุผล ที่ที่ประชุมส.ว.ไม่เห็นชอบนายชั่งทอง เป็นไปตามที่สื่อมวลชนนำเสนอข่าว ว่าเพราะไปลดเกณฑ์การดำรงตำแหน่งตุลาการในศาลปกครองสูงสุดจากไม่น้อยกว่า 5 ปี เหลือไม่น้อยกว่า 3 ปีซึ่งตรงนี้ ที่ประชุมใหญ่ศาลปกครองสูงสุดไม่ได้เป็นผู้ลดแต่เป็นคณะกรรมการสรรหา ดังนั้นการสรรหาใหม่ครั้งนี้ของที่ประชุมใหญ่ในศาลปกครองสูงสุด ก็ต้องยึดเกณฑ์ว่าผู้จะได้รับการเสนอชื่อ ต้องเป็นผู้ที่ดำรงตำแหน่งตุลาการศาลปกครองสูงสุดมาแล้วไม่น้อยกว่า 5 ปี และต้องได้รับการยินยอมจากเจ้าตัว ตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดด้วย ซึ่งถ้าเปิดรับสมัคร แล้วไม่มีผู้สมัคร ทางที่ประชุมใหญ่ในศาลปกครองสูงสุด คงต้องรายงานกลับไปยังวุฒิสภาว่าสรรหาไม่ได้ ไม่มีผู้สมัคร
” เมื่อที่ประชุมส.ว.เห็นว่าไม่ควรลดเกณฑ์การเป็นตุลาการศาลปกครองสูงสุดมาไม่น้อยกว่า 5 ปีลง การสรรหาใหม่ครั้งนี้ที่ประชุมใหญ่ในศาลปกครองสูงสุดก็จะส่งเรื่องไปให้ส.ว.ลดเกณฑ์การดำรงตำแหน่งไม่ได้แล้วในความเห็นผมเข้าใจว่า ที่ประชุมใหญ่ในศาลปกครองสูงสุด คงพิจารณาว่า เมื่อเปิดรับสมัครแล้ว มี ตุลาการศาลปกครองสูงสุดที่มีคุณสมบัติดำรงตำแหน่งมาไม่น้อยกว่า5 ปีมีใครสมัครใจไปไหม อาจมีก็ได้ แต่ถ้าไม่มี ใครยินยอม ก็จบแค่นั้น ก็ต้องรายงานไปที่ส.ว.ว่าสรรหาไม่ได้ เพราะถ้าจะบอกว่า ต้องได้ ตุลาการศาลปกครองสูงสุดไปดำรงตำแหน่งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ก็เท่ากับว่าเป็นการบังคับให้ตุลาการศาลปกครองสูงสุด พ้นจากตำแหน่งโดยไม่มีกฎหมายรองรับ”นายประวิตร กล่าว
นายประวิตร ยังกล่าวด้วยว่า ตุลาการศาลปกครองสูงสุดที่ดำรงตำแหน่งมาแล้วไม่น้อยกว่า 5 ปี ณ.ปัจจุบัน น่าจะมีจำนวน เท่ากับการสรรหาครั้งก่อนคือ 14 คน ถ้าไม่มีใครสมัครใจ ก็มีแนวโน้มว่าศาลรัฐธรรมนูญจะมีตุลาการ 8 คน ซึ่งก็ไม่กระทบอะไรเพราะรัฐธรรมนูญและพ.ร.ป.ว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีของศาลรัฐธรรมนูญ เขียนรับรองไว้แล้วว่าถ้ามีตุลาการศาลรัฐธรรมนูญไม่ต่ำกว่า 7 คน ก็เดินหน้าทำงาน ต่อไปได้.-สำนักข่าวไทย