กรุงเทพฯ 20 พ.ย. – พาณิชย์จับมือ สศช.และ WEF เพิ่มความรู้ภาครัฐ-เอกชน หวังเสริมความสามารถการแข่งขันตามเป้า Thailand 4.0 มั่นใจหลังไทยอันดับดีขึ้นจาก 34 มาอยู่ 32 จาก 137 ประเทศทั่วโลก
นางอภิรดี ตันตราภรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยภายหลังเป็นประธานเปิดประชุมเชิงปฏิบัติการเรื่อง “Competitiveness and Inclusive Growth: Navigating towards Thailand 4.0” ซึ่งเป็นความร่วมมือของกระทรวงพาณิชย์ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) และสภาเศรษฐกิจโลก (World Economic Forum หรือ WEF) เพื่อเสริมความรู้ความเข้าใจร่วมกันพัฒนาขีดความสามารถทางการแข่งขันของไทยตามนโยบาย Thailand 4.0 โดยเป็นครั้งแรกในรอบหลายปีที่ WEF เข้ามาจัดงานในไทยและเป็นก้าวสำคัญช่วยให้ทำงานใกล้ชิดมากขึ้นตามแนวนโยบายเศรษฐกิจของไทย เช่น Thailand 4.0 และระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) มีความสอดคล้องกับการปรับตัวรองรับการปฏิวัติอุตสาหกรรมยุคที่ 4 หรือ Fourth Industrial Revolution (4IR) ซึ่ง WEF ผลักดันให้ประเทศต่าง ๆ ตระหนักถึงผลกระทบจากเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงและหาทางปรับตัว
อย่างไรก็ตาม กระทรวงพาณิชย์ได้ปรับแนวทางส่งเสริมให้ผู้ประกอบการรายย่อยเข้าสู่ห่วงโซ่ให้เติบโตไปด้วยกัน ด้วยการนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มาปรับใช้บนพื้นฐานการสร้างความสมดุลระหว่างการพัฒนาความสามารถในการแข่งขันหรือ Competitiveness และการเติบโตอย่างทั่วถึง หรือ Inclusive Growth เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ซึ่งจะเป็นการแลกเปลี่ยนมุมมองเชิงนโยบายและหารือทิศทางการพัฒนาประเทศไทยของรัฐมนตรีและหัวหน้าส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง CEO ของบริษัทชั้นนำ เช่น ปตท. ไทยเบฟ ซีพี ซึ่งเป็นสมาชิกของ WEF ผู้แทนจาก Oxfam UNDP ESCAP ธนาคารโลก บริษัทที่ปรึกษาชั้นนำระหว่างประเทศ เช่น PwC กลุ่มเทคสตาร์ทอัพ กลุ่มเกษตรกรออร์แกนิค บริษัทขนาดกลางที่เป็นผู้นำด้านเทคโนโลยี SME และหอการค้าต่างประเทศในไทย เพื่อเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับเกณฑ์ชี้วัดใหม่ หรือ New Methodology คาดว่าจะปรับใช้ปี 2561 ให้แก่เจ้าหน้าที่ระดับเทคนิคที่เกี่ยวข้องกับเกณฑ์ชี้วัดของ WEF อีกด้วย
ทั้งนี้ หากดูการจัดอันดับความสามารถทางการแข่งขัน หรือ Global Competitiveness Index (GCI) ปี 2017 – 2018 ประเทศไทยขยับจากอันดับ 34 ปีก่อนมาอยู่ที่อันดับที่ 32 จาก 137 ประเทศแสดงให้เห็นว่าทุกฝ่ายมีการรับรู้และกำหนดแนวทางต่าง ๆ ไปในทางเดียวกันส่งผลให้ไทยมีคะแนนดีขึ้นหลายหมวดใหญ่ โดยเฉพาะด้านประสิทธิภาพแรงงาน ด้านสภาพแวดล้อม ด้านหน่วยงาน ด้านการศึกษาขั้นสูงและการฝึกอบรม ด้านสภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจมหภาค ด้านนวัตกรรม และด้านความพร้อมเทคโนโลยี ที่ได้รับการจัดอันดับสูงขึ้นในปีนี้ แต่ WEF มองไทยยังมีจุดอ่อนที่ต้องปรับปรุงอีกหลายด้าน ดังนั้น การจัดสัมมนาครั้งนี้จะเสนอประเด็นที่เห็นว่าไทยควรพัฒนาเร็วขึ้น ได้แก่ การพัฒนาด้านสถาบันเพื่อให้มีธรรมาภิบาล การปรับลดกฎระเบียบเพื่อสร้างความมีประสิทธิภาพของตลาดและสินค้า การสร้างความพร้อมทางเทคโนโลยี การสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการสร้างนวัตกรรม และการพัฒนาการศึกษาและทักษะ โดย WEF จะเสนอให้ไทยเพิ่มความสำคัญกับการนโยบายเศรษฐกิจแบบมีส่วนร่วม เพื่อลดความเหลื่อมล้ำในระยะยาว
อย่างไรก็ตาม ความสามารถในการแข่งขันเป็นสิ่งที่บ่งชี้ศักยภาพของประเทศจะส่งผลต่อความเชื่อมั่นของนักธุรกิจ บรรยากาศการค้าและการลงทุน ไทยจึงต้องเร่งพัฒนาและปรับปรุงภายใต้เกณฑ์ชี้วัดใหม่ของ WEF เช่น ความสามารถการปรับใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรม หรือแนวทางอำนวยความสะดวกทางการค้าที่กระทรวงพาณิชย์ได้มีการปรับต่อการเริ่มต้นธุรกิจ การค้าระหว่างประเทศ และการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาได้ปรับปรุงและพัฒนาอย่างต่อเนื่องจะเป็นประโยชน์ต่อการยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันและช่วยให้ประเทศไทยมีทิศทางที่ชัดเจนและสอดคล้องกับสถานการณ์ยุคใหม่ ได้ต่อไป
นายเจน นำชัยศิริ ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า แม้อันดับความสามารถการแข่งขันไทยจะดีขึ้น แต่ยังมีอุปสรรคอีกหลายด้านที่ต้องเร่งดำเนินการ
นายกลินท์ สารสิน ประธานกรรมการหอการค้าไทย ระบุว่า ต้องผลักดันการเพิ่มมูลค่าเกษตร การใช้ เทคโนโลยี นวัตกรรม และกฎหมายบางอย่างที่เป็นอุปสรรคต่อการทำธุรกิจ.-สำนักข่าวไทย