กรุงเทพฯ 17 ต.ค. – จุฬาฯ เผยดัชนีความสามารถทางการแข่งขันของ WEF ไทยติดอันดับ 38 ของโลก สะท้อนก้าวสู่ความเป็น 4.0 มากขึ้น
นายพสุ เดชะรินทร์ คณบดี คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นพันธมิตรอย่างเป็นทางการของ WEF (World Economic Forum) ในประเทศไทย เปิดเผยว่า ทางคณะฯ เป็นผู้ทำการเก็บข้อมูลเชิงลึก จากแบบสอบถามกับผู้บริหารระดับสูงขององค์กรขนาดใหญ่และขนาดย่อมทุกภาคส่วนอุตสาหกรรมตามเกณฑ์ที่กำหนด โดย WEF นำไปคำนวณดัชนีความสามารถทางการแข่งขันระดับโลก โดยมีตัวชี้วัด 98 ตัว แบ่งเป็น 12 ด้าน สะท้อนภาพความสามารถในการแข่งขันโดยรวมของประเทศ โดยเกณฑ์และวิธีคำนวณใหม่ของ WEF ที่ออกแบบให้สะท้อนภาพของการปฏิวัติอุตสาหกรรม 4.0 มากขึ้น ประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 38 ด้วยคะแนน 67.5 ซึ่งนับว่าดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัดจากปีที่ผ่านมา ซึ่งอยู่ในอันดับที่ 40 และมีคะแนน 66.3 แสดงให้เห็นว่าเมื่อพิจารณาจากเกณฑ์และวิธีการคำนวณโดยใช้เกณฑ์ 4.0 แล้ว ประเทศไทยก้าวสู่ความเป็น 4.0 มากขึ้น
อย่างไรก็ตาม เป็นที่น่าสังเกตว่าคะแนนและอันดับของประเทศนั้น หากเปรียบเทียบกับความสามารถทางการแข่งขันของประเทศอื่น ๆ ทั่วโลก จะพบว่า ด้านที่มีอันดับดีและส่งผลบวกต่อดัชนีความสามารถทางการแข่งขันโดยรวม ได้แก่ ด้านระบบการเงิน ที่ประเทศไทยอยู่อันดับที่ 14 ของโลก และได้รับคะแนน 84.19 (จาก 100) นอกจากนี้ ด้านขนาดของตลาด ประเทศไทยได้รับการจัดให้อยู่ในอันดับที่ 18 ของโลก และได้รับคะแนน 74.88 โดยด้านขนาดของตลาดจะสะท้อนให้เห็นขนาดของตลาดทั้งในและต่างประเทศที่บริษัทต่าง ๆ ในประเทศไทยสามารถเข้าถึง โดยเป็นผลรวมของการบริโภคภายในประเทศ การลงทุนและการส่งออก
ด้านที่ไทยยังจะต้องพัฒนาและปรับปรุงอย่างต่อเนื่อง เพื่อก้าวสู่ความเป็น 4.0 มากขึ้น ประกอบด้วย ด้านการแข่งขันภายในประเทศ ซึ่งไทยได้รับการจัดให้อยู่อันดับที่ 92 ของโลก ด้วยคะแนน 53.4 จะเกี่ยวข้องกับระบบการแข่งขันภายในประเทศที่เปิดให้บริษัทต่าง ๆ ได้มีโอกาสในการแข่งขันอย่างเท่าเทียม รวมทั้งการปิดกั้นและความซับซ้อนของกฎระเบียบต่าง ๆ โดยการเปิดโอกาสให้มีการแข่งขันของบริษัทต่าง ๆ และกฎระเบียบที่ไม่ซับซ้อนและไม่ปิดกั้นต่อการแข่งขันย่อมจะนำไปสู่นวัตกรรมด้านต่าง ๆ มากขึ้น นอกจากนี้ ด้านการศึกษาและทักษะของไทย ก็ได้รับการจัดอันดับให้อยู่ที่ 66 ของโลก ด้วยคะแนน 62.99.-สำนักข่าวไทย