กระทรวงทรัพยากรฯ 16 พ.ย. – นักวิชาการแนะวิธีกำจัดหนอนตัวแบนนิวกินีเบื้องต้น และเลี่ยงกินหอยไม่สุก ทส.ย้ำอย่าตื่นตระหนก ตั้งทีมรับมือคุมการกระจายในไทยผุดไลน์ให้ประชาชนส่งภาพแจ้งให้ตรวจสอบทันทีที่พบ
กรณีมีการแถลงผลประชุมหารือแนวทางการจัดการหนอนตัวแบนนิวกินี (Platydemus manokwari) ร่วมกันระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้แถลงถึงการป้องกัน เฝ้าระวัง และควบคุมการแพร่กระจายในวันนี้(16 พ.ย.) ดร.นณณ์ ผาณิตวงศ์ กลุ่มอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพและสิ่งแวดล้อม (Siamensis) เผยถึงกรณีที่มีการตระหนกเรื่องหนอนตัวแบนนิวกินี กรณีที่มีข้อกังวลจากการรับประทานอาหารประเภทหอยที่เกรงว่าจะมีหนอนตัวแบนนิวกินีปะปนอยู่นั้น ว่าหากจะติดเชื้อเกิดจากการทานอาหารไม่ถูกสุขลักษณะ ควรหลีกเลี่ยงการกินหอยที่ไม่สุก โดยเฉพาะหอยโข่ง หอยขม ควรล้างทำความสะอาดผักบริเวณที่มีหอยทากและหนอนตัวแบนนิวกินีอาศัยอยู่ก่อนรับประทาน และหลีกเลี่ยงการดื่มน้ำบริเวณที่หอยดังกล่าวอาศัยอยู่โดยไม่ผ่านการต้มหรือกรอง
นอกจากนี้ดร.นณณ์ ผาณิตวงศ์ ยังกล่าวต่อว่าหนอนชนิดนี้คือหนอนตัวแบนนิวกินีที่สามารถยืนยันได้ในระดับนึงตามสัณฐานวิทยาโดยมีผู้เชี่ยวชาญ แต่ต้องรอผล DNA ชี้ชัด เพื่อความแน่นอน 100% และยังมีความกังวลหากหนอนตัวแบนนิวกินีเข้าไปในระบบนิเวศของธรรมชาติ อาจทำให้เกิดปัญหาทางด้านสิ่งแวดล้อมหรือทางระบบนิเวศ จากการหารือของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในวันนี้ (16 พ.ย.) ได้มีการจัดตั้งทีมสำรวจข้อมูลการกระจายพันธุ์ของหนอนตัวแบนนิวกินีในไทย เพื่อศึกษาผลกระทบและหาแนวทางควบคุมไม่ให้กระจายมากขึ้นเพื่อรับมือกับหนอนตัวแบนนิวกินีในหลายพื้นที่ประเทศไทย
แนะสำหรับวิธีการกำจัดหนอนตัวแบนนิวกินีเบื้องต้นให้คีบหนอนตัวแบนนิวกินีไปใส่ในกระปุกหรือขวดโหลแล้วนำเกลือมาโรยหรือนำน้ำร้อนมาลวก นอกจากนี้หากไม่แน่ใจว่าเป็นหนอนตัวแบนนิวกินีหรือไม่กระทรวงได้จัดตั้งกลุ่มไลน์เพื่อแจ้งและสอบถามเหตุโดยเฉพาะ ประชาชนผู้สนใจสามารถพิมพ์เข้ากลุ่มแจ้งได้ที่ @qbw4880w โดยสามารถส่งรูปภาพหนอนที่พบสอบถามผู้เชี่ยวได้โดยตรง ซึ่งเป็นอีกมาตรการที่ช่วยตอบข้อสงสัยและคลายความกังวลให้กับประชาชน.-สำนักข่าวไทย
ขอบคุณภาพและข้อมูล ประกอบจาก การแพร่ระบาดของหนอนตัวแบนนิวกินี ในประเทศไทย
ดร.นณณ์ ผาณิตวงศ์
กลุ่มอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพ (siamensis.org) 16 พฤศจิกายน 2560
การพบในประเทศไทย ภาพโดย ชยจิต ดีกระจ่าง พ.ศ.2553 บางเขน กทม.
ข้อมูลทั่วไป ของหนอนตัวแบนนิวกินี
ชื่อวิทยาศาสตร์ Platydemus manokwari De Beauchamp, 1963
ความยาวเมื่อโตเต็มที่ประมาณ 6-7 ซม. ความกว้างประมาณ 0.7-1 ซม.
ด้านบนสีน้ำตาลเข้มหรือดำมันวาวคล้ายเส้นเฉาก๊วย ในตัวที่มีสีอ่อนจะเห็นเส้นสีน้ำตาลอ่อนพาดกลางหลัง
ด้านท้องสีขาวหม่น มีจุดสีขาวขนาดเล็กแสดงตำแหน่งของปาก อยู่เยื้องไปทางท่อนหางของแนวกึ่งกลางลำตัว
กินหอยทากและทากเปลือยเป็นอาหารหลัก มีรายงานกินอาหารอื่นๆเช่น ไส้เดือน และ ซากสัตว์ต่างๆ
การขยายพันธุ์ของหนอนตัวแบน
เป็นสัตว์ที่มีสองเพศในตัวเดียว แต่การขยายพันธุ์ต้องมีสองตัว
วางไข่ในดินครั้งละ 5-10 ฟอง
ไข่ฟักภายใน 7-8 วัน
สามารถขยายพันธุ์ได้ภายใน 3 สัปดาห์
วางไข่ทุกๆ 7-10 วัน
วางไข่จนมีอายุมากกว่า 200 วัน (แต่บางตัวมีอายุถึง 2 ปีในที่เลี้ยง)
อดอาหารได้เป็นปี
ใช้ตัวเลขกลางๆพบว่า หนอนตัวแบนนิวกินีหนึ่งตัวจะให้ลูกได้ประมาณ 120 ตัวตลอดช่วงชีวิตที่สามารถขยายพันธุ์ได้
อ้างอิง: Kaneda, M.; Kitagawa, K.; Ichinohe, F. (1990). “Laboratory rearing method and biology of Platydemus manokwari De Beauchamp (Tricladida: Terricola: Rhynchodemidae)”. Applied Entomology and Zoology. 25 (4): 524–528
ถิ่นกำเนิดดั้งเดิม
เกาะนิวกินี ประเทศอินโดนีเซีย และ ปาปัวนิวกินี
เมืองมานกวาริเป็นเมืองท่าอยู่ติดทะเล ภูมิอากาศคล้ายประเทศไทย
เกาะนิวกินีอยู่ในเขตสัตวภูมิศาสตร์เดียวกับออสเตรเลีย
การพบในประเทศไทย
ภาพโดย ชยจิต ดีกระจ่าง พ.ศ.2553 บางเขน กทม.
รายงานครั้งแรกโดยนาย คุณมงคล อันทะชัย จาก จ.ปทุมธานี วันที่ 31 ตค. 2560
ดร. Leigh Winsor และ ดร. Jean-Lou Justine ผู้ทำการศึกษาหนอนตัวแบนนิวกินีในหลายประเทศ ยืนยันผ่านทางภาพถ่ายว่าเป็นชนิดนี้
ดร. Leigh Winsor ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า หนอนตัวแบนกลุ่มนี้ตามธรรมชาติเป็นชนิดที่พบเฉพาะที่เกาะนิวกินี ออสเตรเลีย และเกาะในละแวกใกล้เคียงเท่านั้น ไม่น่าจะพบชนิดท้องถิ่นในประเทศไทย
ตัวอย่างการรุกรานในประเทศญี่ปุ่น
หอยท้องถิ่นบนเกาะโอกาวาระทั้งหมด 25 ชนิด 16 ชนิดสูญพันธุ์ภายใน 25 ปี
อ้างอิง: Chiba & Cowie, 2016, Evolution and Extinction of Land Snails on Oceanic Islands
ก้าวต่อไป…
ตรวจ DNA เพื่อยืนยันชนิดให้ไม่มีข้อกังขาใดๆ
เก็บข้อมูลการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยให้ครอบคลุมที่สุด
ตรวจหาพยาธิในกลุ่มประชากรต่างๆเพื่อการเฝ้าระวังโรคติดต่อ/ลดความกังวลของประชาชน
จัดทำชุดข้อมูลเพื่อให้ความรู้แก่ประชาชน
วางแผนป้องกันไม่ให้เข้าไปในป่า
วางแผนป้องกันไม่ให้มีการแพร่กระจายสู่แหล่งอื่นๆ(ประเทศเพื่อนบ้านและคู่ค้า)
——————————
แถลงข่าวกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม