ปทุมธานี 10 พ.ย. – ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวไทย ลงพื้นที่ อ.ลำลูกกา จ.ปทุมธานี จุดที่พบหนอนตัวแบนนิวกินี ซึ่งเป็น 1 ใน 100 สัตว์รุกรานต่างถิ่นที่น่ากลัวที่สุดของโลก สัตว์ชนิดนี้กินหอยทากเป็นอาหาร ด้านนักวิชาการแนะเร่งกำจัด หลังยังไม่พบสัตว์ชนิดใดเป็นผู้ล่า ที่สำคัญขณะนี้พบแพร่ระบาดแล้วใน 11 จังหวัด
นี่คือ “หนอนตัวแบนนิวกินี” เอเลี่ยนสปีชีส์ ซึ่งเป็น 1 ใน 100 สัตว์รุกรานต่างถิ่นที่น่ากลัวที่สุดของโลก พบบริเวณสวนหน้าบ้านหลังหนึ่งใน อ.ลำลูกกา จ.ปทุมธานี ซึ่งจากการสำรวจพบเห็นกว่า 10 ตัว อยู่ตามพื้นดินที่มีความชื้น เจ้าของบ้านเปิดเผยว่า พบสัตว์ชนิดนี้ตั้งแต่เดือนที่แล้ว แต่ไม่ได้เอะใจ กระทั่งหลายวันต่อมาเห็นกำลังรุมกินหอยทาก จึงถ่ายภาพและโพสต์ในกลุ่มอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพ เพื่อสอบถามว่าเป็นสัตว์ชนิดใด
นักวิชาการอิสระกลุ่มอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพ เปิดเผยว่า หนอนตัวแบนนิวกินี มีถิ่นกำเนิดบนเกาะนิวกินี ประเทศอินโดนีเซีย แต่ยังไม่มีความชัดเจนว่าเข้ามาแพร่พันธุ์ในไทยได้อย่างไร โดยที่ผ่านมาหนอนชนิดนี้เคยระบาดในสิงคโปร์ จึงเป็นไปได้ว่าอาจติดมากับดิน หิน ต้นไม้ ผัก หรือแม้กระทั่งลังไม้ที่ขนส่งมาทั้งทางเรือและเครื่องบิน ขณะที่ปัจจุบันมีรายงานว่า พบหนอนตัวแบนนิวกินีระบาดในไทยแล้ว 11 จังหวัด ประกอบด้วย ปทุมธานี กรุงเทพฯ สงขลา ชุมพร เชียงใหม่ ขอนแก่น ชลบุรี อุบลราชธานี ปราจีนบุรี นครราชสีมา และจันทบุรี
สิ่งที่น่าเป็นห่วงที่สุด คือ ระบบนิเวศ เพราะนอกจากกินหอยทากจนส่งผลกระทบต่อห่วงโซ่อาหารแล้ว พอหอยทากหมด หนอนชนิดนี้ก็จะกินไส้เดือน และสัตว์หน้าดินตัวอื่นๆ ซึ่งจะมีผลต่อคุณภาพดิน และแม้ว่าหนอนชนิดนี้จะเป็นพาหะแพร่พยาธิปอดหนูและพยาธิหอยโข่ง แต่มีความเป็นไปได้น้อยที่มนุษย์จะได้รับผลกระทบ เพราะไม่ได้กินหนอนชนิดนี้เป็นอาหาร แต่เพื่อเป็นการป้องกัน ควรล้างทำความสะอาดผักในบริเวณที่มีหนอนชนิดนี้อาศัยอยู่ก่อนรับประทาน หรือรับประทานเฉพาะผักปรุงสุกเท่านั้น พร้อมแนะเร่งควบคุมปริมาณ เนื่องจากในธรรมชาติยังไม่พบสัตว์ชนิดใดเป็นผู้ล่า โดยวิธีกำจัดที่ถูกต้องที่สุด คือ การราดด้วยน้ำร้อน หรือโรยเกลือลงที่ตัวหนอนโดยตรง ที่สำคัญไม่ควรสับหรือหั่น เพราะจะทำให้เติบโตเป็นตัวใหม่ได้
หากใครพบเห็นหนอนตัวแบนนิวกินี หรือไม่แน่ใจว่าใช่หนอนตัวแบนนิวกินีหรือไม่ ให้ถ่ายภาพและโพสต์สอบถามมายังเฟซบุ๊กกลุ่ม siamensis.org. – สำนักข่าวไทย