สำนักข่าวไทย 9 พ.ย.- กรมควบคุมโรคแนะประชาชนอย่าตื่นตระหนก กรณีพบหนอนตัวแบนนิวกินีหนึ่งในร้อยสัตว์รุกรานต่างถิ่นน่ากลัวที่สุดของโลก
ครั้งแรกในไทย ชี้ยังไม่มีหลักฐานวิชาการยืนยันเป็นพาหะแพร่เชื้อสู่คน
นพ.อัษฎางค์ รวยอาจิณ รองอธิบดีและโฆษกกรมควบคุมโรค ระบุกรณีรายงานข่าวเกี่ยวกับการพบหนอนตัวแบนนิวกินีในประเทศไทย
ยังไม่มีหลักฐานทางวิชาการและงานวิจัยทางปรสิตวิทยาที่รายงานว่า หนอนตัวแบนนิวกินีเป็นพาหะแพร่เชื้อโรคไข้ปวดหัวหอย
หรือพยาธิปอดหนู หรือพยาธิหอยโข่ง ที่ก่อให้เกิดเยื่อหุ้มสมองอักเสบในคน
ซึ่งในเรื่องนี้ต้องมีการศึกษาเพิ่มเติมต่อไป
อย่างไรก็ตาม ถึงแม้จะมีรายงานพบพยาธิที่สามารถก่อโรคในคนได้
แต่ในประเทศไทยยังไม่มีรายงานว่า มีผู้ป่วยติดโรคพยาธิปอดหนูที่มีพาหะแพร่โรคมาจากหนอนตัวแบนชนิดนี้ ส่วนที่มีรายงานคือ ติดโรคจากการกินหอยสุกๆ
ดิบๆ จึงขอให้ประชาชนอย่าตื่นตระหนก แต่ให้ระมัดระวังในเรื่องการรับประทานอาหาร
ขอให้ถูกสุขอนามัย โดยเน้น “สุก ร้อน สะอาด”
จากรายงานของ ดร.นณณ์ ผาณิตวงศ์
ผู้ก่อตั้งกลุ่มอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพและสิ่งแวดล้อม
ผู้เชี่ยวชาญเรื่องสัตว์น้ำ ระบุการค้นพบหนอนตัวแบนนิวกินีครั้งแรกในประเทศไทย
ที่จังหวัดปทุมธานี เมื่อวันที่ 31 ต.ค.61 และจากการสอบถามเพิ่มเติม มีรายงานว่า พบที่
กทม. สงขลา ชลบุรี และเชียงใหม่ โดยเฉพาะพื้นที่ชื้นที่มีหอยทาก หนอนตัวแบนนิวกินี
เป็นหนอนที่มีถิ่นกำเนิดบนเกาะนิวกินี พบครั้งแรกที่ประเทศอินโดนีเซีย
เมื่อโตเต็มที่แล้วมีลำตัวยาวประมาณ 5-6 เซนติเมตร
ปลายแหลมทั้งสองด้านแต่ด้านที่เป็นหัวจะแหลมเล็กกว่า
สีด้านหลังเป็นสีน้ำตาลเข้มและมีลายสีน้ำตาลอ่อนพาดกลางลำตัวตามแนวยาว
ด้านท้องสีขาวและมีจุดสีขาวเล็กๆ ค่อนไปทางด้านหาง ซึ่งเป็นส่วนปาก
กินหอยทากเป็นอาหารหลัก
หนอนตัวแบนชนิดนี้มีรายงานถูกปล่อยเพื่อกำจัดหอยทากยักษ์แอฟริกา (สัตว์ต่างถิ่น)
ที่เป็นศัตรูพืช แต่กลับไล่ล่าหอยทากเฉพาะถิ่นจนสูญพันธุ์ไปเป็นจำนวนมาก ทำให้สหภาพสากลว่าด้วยการอนุรักษ์
(IUCN) จัดให้หนอนตัวแบนนิวกินีเป็นหนึ่งในร้อยสัตว์รุกรานต่างถิ่นที่น่ากลัวที่สุดของโลก
ดร.นณณ์
ระบุในรายงานว่า หนอนตัวแบนนิวกินีเป็นพาหะแพร่เชื้อ พยาธิปอดหนู พยาธิหอยโข่ง ที่แพร่เข้าสู่ร่างกายคนผ่านทางการกิน
ทำให้เกิดการอักเสบในเยื่อหุ้มสมอง โดยผู้ป่วยจะปวดหัวอย่างรุนแรง เป็นไข้
อาเจียนพุ่ง คอแข็ง ตาพร่ามัว ท้องเสีย และปวดกล้ามเนื้อ หากมีการติดเชื้อรุนแรงจะนำไปสู่อาการเรื้อรังจนเสียชีวิตได้
ประชาชนควรหลีกเลี่ยงการกินหอยที่ไม่สุก โดยเฉพาะหอยโข่ง และหอยขม ควรล้างทำความสะอาดผักบริเวณที่มีหอยทากและหนอนตัวแบนอาศัยอยู่ก่อนรับประทาน
และหลีกเลี่ยงการดื่มน้ำบริเวณที่หอยดังกล่าวอาศัยอยู่โดยไม่ผ่านการต้มหรือกรอง
ส่วนวิธีกำจัดหนอนดังกล่าว ทำได้โดยใช้น้ำร้อนลวกหรือหยอดด้วยเกลือป่น
ห้ามใช้การสับหรือหั่นเพราะแต่ละชิ้นจะเติบโตเป็นตัวใหม่ได้และกลายเป็นการเพิ่มจำนวนขึ้นอีก
หากพบหนอนตัวแบนนิวกินี ขอให้รายงานมาที่กลุ่มสยามเอ็นสิส ผ่านทางเฟซบุ๊ก siamensis.org
หรือผ่านกลุ่มไลน์งูเข้าบ้าน
@sde5284v โดยขอให้ถ่ายภาพและระบุสถานที่พบเพื่อเป็นข้อมูลการจัดการ.-สำนักข่าวไทย
ขอบคุณภาพจาก ดร.นณณ์ ผาณิตวงศ์