สำนักข่าวไทย 12 พ.ย. – อธิบดีกรมการแพทย์ เผย แต่ละปี มีคนไทย เสียชีวิตจากภาวะหัวใจขาดเลือด เฉลี่ยปีละ 50,000 คน ส่วนใหญ่เสียชีวิตนอกบ้าน มีแต่ 20,000 คน ที่ได้รับการช่วยเหลือส่งต่อโรงพยาบาล พร้อมย้ำชั่วโมงทองของการกู้ชีพ ควรทำ ภายใน 2 ชั่วโมง
นายแพทย์สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า จากข้อมูลใบมรณะบัตร กระทรวงมหาดไทย พบว่า มีผู้เสียชีวิต จากโรคหัวใจขาดเลือด เฉลี่ยปีละ 50,000 จากโรคหัวใจขาดเลือด ส่วนใหญ่เป็นเสียชีวิตนอกโรงพยาบาล เช่น ที่บ้าน หรือตามสถานที่ต่างๆ ซึ่งส่วนใหญ่ไม่ได้รับการวินิจฉัย ขณะเดียวกันก็พบว่า มีการส่งตัวผู้ป่วยที่แสดงอาการจากโรคหัวใจขาดเลือดมายังโรงพยาบาลเฉลี่ยปีละ 20,000 คน ในจำนวนร้อยละ 10 เสียชีวิต การช่วยชีวิตของผู้ที่มาโรงพยาบาล ส่วนใหญ่จะได้รับการปฐมพยาบาลเบื้องต้น ภายใน 1ชั่วโมง จากอาการ แน่นหน้าอก ปวดร้าว ตั้งแต่สันหลังถึงสะบัก แต่กรณีล้มลงหมดสติแบบโจ บอยสเก๊าท์ การช่วยชีวิตให้กลับมาปกติได้นั้นทำได้ แค่ร้อยละ 10 โดยหากมีการใช้กระตุกไฟฟ้าหัวใจ หรือ เออีดี ร่วมด้วยจะช่วยให้มีโอกาสชีวิตมากถึง ร้อยะ 70 เพราะชั่วโมงทองของการกู้ชีพ จากโรคหัวใจขาดเลือด ควรกระทำภายใน 2 ชั่วโมงแรก โอกาสรอดชีวิตถึงจะมีสูง จากการสังเกตุคลิปจะพบว่า โจ เริ่มแสดงอาการเหนื่อยหอบจนต้องหยุดพักการแสดง นั่นก็ถือเป็นสัญญาณเตือนอย่างหนึ่ง ฉะนั้นต้องรู้จักสังเกตุตัวเองให้เสมือนตัวเองเป็นหมอ และหยุดพัก เพื่อขอความช่วยเหลือทันที
สำหรับกลุ่มเสี่ยงของการเกิดโรคหัวใจขาดเลือด สามารถเกิดขึ้นได้ โดยที่ไม่รู้ตัวมาก่อน ฉะนั้นการตรวจสุขภาพประจำปี จึงเป็นสิ่งสำคัญ กลุ่มเสี่ยงผู้ป่วยโรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง หรือ ผู้ที่ติดบุหรี่ ควรได้รับการตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ รวมถึงผู้ที่มีอายุ 50 ปี ขึ้นไป .-สำนักข่าวไทย