ศูนย์ประชุมสหประชาชาติ 12 พ.ย.- นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์ ชี้ 6 คำถามนายกรัฐมนตรี เป็นยุทธศาสตร์ทางการเมืองของรัฐบาล เพื่อโต้กลับฝ่ายการเมือง และอาจเป็นการหยั่งเสียงเพื่ออยู่ต่อ ระบุ อาจไม่ได้เห็นพรรคทหาร แต่เป็นกลไกอื่นควบคุมเข้ามาพรรคการเมือง
นายยุทธพร อิสรชัย อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัย ธรรมาธิราช กล่าวถึงการตั้งคำถาม 6 ข้อของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีว่า จะได้เห็นภาพสะท้อนของการโต้กลับจากฝ่ายการเมือง เนื่องจาก 6 คำถามดังกล่าวเกิดขึ้นในช่วงเวลาที่มีกระแสของการปลดล็อคพรรคการเมืองและกระแสของการทวงถามความชัดเจนของโรดแม็ปการเลือกตั้ง ที่สำคัญในเรื่องของการปลดล็อคพรรคการเมืองนั้นมีแนวทางที่สอดรับเหมือนกันทุกพรรค สะท้อนให้เห็นว่าฝ่ายการเมืองมีแนวทางในทิศทางเดียวกัน ดังนั้น กระบวนการในการตั้งคำถามของนายกรัฐมนตรีนั้น ก็คือการโต้กลับไปสู่ฝ่ายการเมืองในขณะที่รัฐบาลถูกกระแสกดดัน เช่นเดียวกับการตั้งคำถาม 4 คำถามของนายกรัฐมนตรีก่อนหน้านี้ เป็นช่วงเวลาที่ใกล้กับการประกาศให้มีคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติและคณะกรรมการปฏิรูปประเทศ ดังนั้นช่วงเวลาตามเปลี่ยนแปลงนี้ก็เป็นยุทธศาสตร์ทางการเมืองอย่างหนึ่งของนายกรัฐมนตรี
นายยุทธพร กล่าวว่า ในส่วนของ 6 คำถาม สะท้อนให้เห็นว่า คสช.ก็ยังไม่มั่นใจในกลไกที่คสช.ออกแบบมาตลอด 3 ปี ว่าจะเป็นรัฐธรรมนูญ พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ คณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติและคณะกรรมการปฏิรูปประเทศว่าจะสามารถแก้ปัญหาได้จริง เนื่องจากในข้อคำถามยังมีประเด็นที่ถามว่า หากเลือกตั้งแล้วได้นักการเมืองที่ไม่มีคุณภาพกลับมาจะทำอย่างไร ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่า คสช. ก็ไม่มั่นใจกับสิ่งที่ได้ทำมาตลอด 3 ปีที่ผ่านมานั้น สะท้อนให้เห็นว่ากลไกต่าง ๆ ไม่สามารถแก้ปัญหาได้อย่างครบถ้วน นอกจากนี้ จะเห็นได้ว่า คสช. พยายามเป็นคู่ตรงข้ามและเป็นคู่ขัดแย้งกับฝ่ายการเมืองอย่างเห็นได้ชัด เพราะเมื่อ 3 ปีก่อนที่มีการรัฐประหาร คสช.เข้ามาในลักษณะของการเป็นคนกลางเพื่อที่จะมายุติความขัดแย้งและดำเนินการแก้ปัญหา รวมทั้งปฏิรูปในเรื่องต่างๆ
“วันนี้ คสช.เปิดแนวรุกกับนักการเมือง อย่างเช่น การตั้ง 6 คำถามนี้ ยิ่งเป็นภาพที่สะท้อนให้เห็นได้ชัดว่า คสช.กระโดดลงมาเป็นผู้เล่นด้วย ในอนาคตหากการตั้งพรรค คสช. เป็นจริงขึ้นมา จะยิ่งชัดเจนว่า คสช.มาลงเป็นผู้เล่นในสนามการเมืองด้วย อีกทั้งยังมองว่า ตั้งคำถามเป็นการสื่อสารทางการเมือง ที่ คสช.สื่อสารไปยังกลุ่มผู้สนับสนุน คสช.เพื่อที่จะกระตุ้นให้เห็นว่า คสช. ได้ทำงานมาในระดับหนึ่งแล้ว หลังจากนี้ก็ให้กลุ่มผู้สนับสนุนได้ขับเคลื่อนต่อ และเป็นการฉายภาพให้เห็นในเชิงเปรียบเทียบระหว่างอะไรที่นักการเมืองทำไม่ได้ และอะไรที่ คสช.ทำได้ ตรงนี้ก็คงเป็นยุทธศาสตร์ในการสื่อสารทางการเมือง” นายยุทธพร กล่าว
นายยุทธพร กล่าวว่า การตั้งคำถามก็อาจเป็นการหยั่งเสียงเพื่อที่จะอยู่ต่อ หรือเป็นการเช็คเรทติ้งว่าถ้านายกรัฐมนตรีจะมาเป็นนายกรัฐมนตรีคนนอกหลังการเลือกตั้งหรือการมีพรรค คสช.นั้น จะเป็นไปได้หรือไม่ แต่การเช็คเรทติ้งครั้งนี้ คงไม่ได้ข้อมูลที่ครบถ้วนสมบูรณ์มากนัก เพราะการรวบรวมคำถามและคำตอบเป็นไปตามกลไกระบบราชการ ซึ่งอาจจะตัดบางคำตอบที่สุดขั้วมากเกินไปหรือเอาเฉพาะประเด็นที่สอดรับกับทัศนคติของ คสช. ข้อมูลที่ได้ก็อาจจะเป็นข้อมูลด้านเดียว
นายยุทธพร กล่าวอีกว่า ส่วนความเป็นไปได้ในการตั้งพรรคทหารนั้น ตนมองว่ามีโอกาสที่จะเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา เพราะที่ผ่านมาก็เคยมีพรรคของทหารมาตลอด ในประวัติศาสตร์ทางการเมืองไทย แต่หากย้อนกลับไปดูก็จะพบว่าไม่ประสบความสำเร็จและไม่มีความยั่งยืนเกิดขึ้นในพรรคของทหาร และหลายครั้งก็กลับกลายเป็นชนวนของความรุนแรงทางการเมืองด้วย สำหรับครั้งนี้ตนเชื่อว่า มีพัฒนาการของทหารในระดับหนึ่ง ดังนั้นก็อาจจะไม่ได้เห็นในรูปแบบของพรรคการเมืองก็ได้เพราะยังมีกลไกอื่น เช่นคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ คณะกรรมการปฏิรูปประเทศที่ควบคุมกำกับนักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้งได้อยู่แล้ว ดังนั้นก็อาจไม่เห็นพรรคการเมืองของทหารที่เป็นรูปร่างชัดเจน แต่เห็นในลักษณะกลยุทธ์ทางการเมืองแบบอื่นมากกว่า.-สำนักข่าวไทย