กรุงเทพฯ 6 พ.ย. – กรมเชื้อเพลิงฯ เผยมีข่าวดีไทยจะผลิตน้ำมันจากแหล่งวิเชียรบุรีเพิ่มเกือบอีกเท่าตัว พร้อมพัฒนาโครงการติดตั้งเครื่องผลิต-อัดก๊าซธรรมชาติที่เผาทิ้ง เพื่อเป็นเชื้อเพลิงรถยนต์แบบเคลื่อนย้ายได้ หรือ CNG Mobile
แหล่งวิเชียรบุรีปัจจุบันมีกำลังผลิตน้ำมันประมาณ 1,000 บาร์เรลต่อวัน และกำลังจะเพิ่มอีก 600 บาร์เรลต่อวันในอีกไม่กี่วันนี้ หลังสำนักงานนโยบายและแผนสิ่งแวดล้อมอนุมัติให้ผลิตในฐานผลิตใหม่ นายวีระศักดิ์ พึ่งรัศมี อธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ กล่าวว่า นับเป็นข่าวดี เพราะช่วยทดแทนการนำเข้าน้ำมันและสร้างรายได้แก่รัฐจากภาษีและค่าภาคหลวง จากปีที่แล้วจัดเก็บจากแหล่งวิเชียรบุรีที่ผลิตโดยกลุ่มอีโคโอเรียนท์จากฮ่องกงประมาณ 89 ล้านบาท
ทั้งนี้ กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติร่วมกับ บมจ.แสกนอินเตอร์ และแหล่งปิโตรเลียม วิเชียรบุรี พัฒนาโครงการติดตั้งเครื่องผลิต-อัดก๊าซธรรมชาติที่เผาทิ้ง เพื่อเป็นเชื้อเพลิงรถยนต์แบบเคลื่อนย้ายได้ หรือ CNG Mobile โดยนำไปใช้เป็นเชื้อเพลิงในโรงงานอุตสาหกรรมผลิตขวดแก้วในจังหวัดขอนแก่น ซึ่งโครงการเช่นนี้จะช่วยให้เกิดประโยชน์นำก๊าซในแหล่งน้ำมันที่เดิมต้องเผาทิ้ง เพื่อความปลอดภัยมาใช้ประโยชน์สร้างมูลค่าเพิ่มลดผลกระทบสิ่งแวดล้อมและการที่เป็นแบบ CNG Mobile ก็สามารถเคลื่อนย้ายไปใช้กับแหล่งปิโตรเลียมอื่น ๆ หากแหล่งนั้น ๆ หมดลง เพราะแหล่งของไทยเป็นกระเปาะปิโตรเลียมเล็ก ๆ
ปัจจุบันแหล่งวิเชียรบุรีเป็นแหล่งสัมปทานปิโตรเลียมบนบก ครอบคลุมพื้นที่จังหวัดเพชรบูรณ์ ดำเนินการโดยกลุ่มบริษัท อีโค่ โอเรียนท์ สำหรับบริษัท อีโค่ โอเรียนท์ รีซอสเซส (ประเทศไทย) จำกัด เป็นผู้ได้รับสัมปทานปิโตรเลียม 2 แปลงด้วยกัน ได้แก่ แปลงสำรวจหมายเลข L44/43 ซึ่งมีกำลังการผลิตน้ำมันดิบ 953.76 บาร์เรลต่อวัน และก๊าซธรรมชาติ 0.53 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน และแปลงสำรวจหมายเลข L33/43 ซึ่งมีกำลังการผลิตน้ำมันดิบ 21.54 บาร์เรลต่อวัน และก๊าซธรรมชาติ 0.002 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน โดยบริษัทยังคงรักษาระดับการผลิตปิโตรเลียมจนถึงสิ้นสุดอายุสัมปทานปี 2575
สำหรับการผลิตน้ำมันดิบโดยรวมของแหล่งผลิตดังกล่าว ประกอบด้วย แหล่งนาสนุ่นตะวันออก บ่อรังเหนือ วิเชียรบุรีส่วนขยาย วิเชียรบุรีส่วนขยายตะวันออก ท่าโรงตะวันออก และท่าโรงเหนือ จะมีระบบแยกสถานะที่ถังแยกสถานะ (Separator) ให้ได้น้ำมันดิบเพื่อนำไปจำหน่ายให้กับโรงกลั่นน้ำมันบางจาก ส่วนของก๊าซธรรมชาติที่ปะปนอยู่ในน้ำมันดิบจะถูกนำไปใช้เป็นเชื้อเพลิงในกระบวนการผลิตในบางส่วน และส่วนที่เหลือจะมีการเผาทิ้งเพื่อความปลอดภัย สำหรับน้ำที่แยกได้จากกระบวนการผลิตจะอัดกลับเข้าสู่หลุมผลิตใต้ดิน โดยจะไม่มีการปล่อยของเสียออกสู่ภายนอกสู่พื้นที่สาธารณะ
นายธัญชาติ กิจพิพิธ กรรมการประธานกรรมการบริหาร บมจ. สแกน อินเตอร์ (scn) กล่าวว่า บริษัทพัฒนานวัตกรรมถัง CNG TYPE 4 ผลิตจากคาร์บอนไฟเบอร์ สามารถเพิ่มการบรรจุก๊าซฯ ได้เท่าตัว และน้ำหนักเบา นับเป็นผู้ผลิตรายแรกในเอเชียที่ผลิตเชิงพาณิชย์ ขณะนี้มีคำสั่งซื้อจากอินโดนีเซียและเวียดนาม 1,000 ใบ นับเป็นนวัตกรรมใหม่ที่ผลิตและจะเริ่มผลิตจำหน่ายก๊าซจากแหล่งวิเชียรบุรีขนส่งไปบริษัท บางกอกกล๊าส จังหวัดขอนแก่น เดือนมีนาคม 2561 โดยเป็นเชื้อเพลิงทดแทนน้ำมันและก๊าซแอลพีจี ทั้งนี้ เมื่อโครงการนำร่องเสร็จจะมีการผลิตแหล่งปิโตรเลียมอื่น ๆ อีกด้วย.-สำนักข่าวไทย