รร.แชงกรี-ลา 6 พ.ย. – นายกรัฐมนตรีประกาศในงานประชุมสมาพันธ์เครื่องประดับโลก CIBJO Congress 2017 ย้ำชาวโลกไทยพร้อมเป็นศูนย์กลางอัญมณีและเครื่องประดับภายในอีกไม่กี่ปีข้างหน้าได้แน่ เชื่อทุกด้านไทยมีฝีมือและเป็นที่ต้องการสูง รัฐบาลหนุนหลายมาตรการยกระดับทุกด้านเต็มที่
พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวเปิดงานประชุมสมาพันธ์เครื่องประดับโลก CIBJO Congress 2017 พร้อมปาฐกถาพิเศษ “ทิศทางของไทยสู่การเป็นศูนย์กลางอัญมณีและเครื่องประดับโลก” ว่า ประเทศไทยขอต้อนรับสมาชิกสมาพันธ์เครื่องประดับโลกและแขกผู้มีเกียรติกว่า 300 คน จาก 42 ประเทศทั่วโลก ในฐานะเจ้าภาพได้เตรียมความพร้อมเพื่ออำนวยความสะดวกตลอดระยะเวลาที่อยู่ในประเทศไทย ซึ่งการประชุมครั้งนี้เป็นประโยชน์ต่อภาคอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับทั้งของไทยและโลกที่จะแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ เพื่อผลักดันให้อุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับเติบโตอย่างมีเสถียรภาพและเป็นกลไกหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ
ทั้งนี้ อุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับมีส่วนสร้างรายได้ให้กับแรงงานกว่า 700,000 คน ซึ่งกระจายอยู่ทั่วประเทศและสร้างรายได้ให้เศรษฐกิจไทยกว่า 7,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี และมีโอกาสจะเพิ่มขึ้น ที่ผ่านมาประเทศไทยมุ่งมั่นพัฒนาสินค้ากลุ่มนี้อย่างมาก และคาดหวังให้ไทยเป็นศูนย์กลางการค้าอัญมณีและเครื่องประดับของโลกให้ได้ในอีก 5 ปีข้างหน้า ดังนั้น รัฐบาลจะผลักดันให้ไทยเป็นศูนย์กลางฯ ตามวิสัยทัศน์ที่ตั้งไว้ แต่ไม่ใช่เรื่องง่าย แม้ไทยจะมีจุดแข็งและความได้เปรียบจากความหลากหลายของสินค้าที่สามารถผลิตได้ ทั้งเครื่องประดับเงิน เครื่องประดับทอง พลอยสี ขณะเดียวกันไทยยังมีข้อจำกัดด้านวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิตเครื่องประดับต้องนำเข้าวัตถุดิบ เช่น เงินแท่ง ทองคำ เพชร และพลอยจากต่างประเทศ แล้วนำมาแปรรูปเพื่อส่งออกและจำหน่ายภายในประเทศ ดังนั้น จากจุดแข็งและความท้าทาย การส่งเสริมและการพัฒนาอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับให้บรรลุผลตามวิสัยทัศน์ที่ได้กำหนดไว้ รัฐบาลไทยจึงกำหนดมาตรการสนับสนุนให้ไทยเป็นศูนย์กลางการค้าอัญมณีและเครื่องประดับด้วยการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรม และการส่งเสริมด้านการตลาด ซึ่งทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องบูรณาการการดำเนินการไปในทิศทางเดียวกันอย่างเต็มที่ ได้แก่ กระทรวงพาณิชย์ โดยกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ รวมถึงสถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ หรือ GIT กระทรวงการคลัง กระทรวงแรงงาน กระทรวงอุตสาหกรรม และการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย
ทั้งนี้ ภาครัฐให้การสนับสนุนอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับอย่างครบวงจรผ่านมาตรการในรูปแบบต่าง ๆ คือ มาตรการทางภาษีและการเงิน ได้แก่ การยกเว้นอากรขาเข้าสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับ มาตรการยกระดับคุณภาพและมาตรฐานสินค้า มาตรการส่งเสริมด้านการตลาด
นางอภิรดี ตันตราภรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า การจัดประชุมครั้งนี้ถือเป็นกิจกรรมแสดงถึงศักยภาพของประเทศไทยที่จะเป็นศูนย์กลางการค้าอัญมณีและเครื่องประดับโลกภายในปี 2564 และส่งเสริมภาพลักษณ์ของอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับไทยและยกระดับมาตรฐานการผลิตและการตรวจสอบ เพื่อภาพลักษณ์ด้านความเชื่อมั่นของอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับไทย และเป็นเวทีแลกเปลี่ยนถ่ายทอดข้อมูลเกี่ยวกับมาตรฐานและกฎระเบียบทางการค้าของอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับทุกด้าน อาทิ พลอยสี เพชร ไข่มุก โลหะมีค่า ธรรมาภิบาลทางการค้า
อย่างไรก็ตาม อุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับของไทยส่วนใหญ่เป็นการผลิตเพื่อส่งออกร้อยละ 80 ส่วนอีกร้อยละ 20 เป็นการผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศ โดยปี 2559 ไทยเป็นผู้ผลิตและส่งออกสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับอันดับ 10 ของโลก มีมูลค่าการส่งออกสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับไทย (รวมทองคำ) ปี 2559 รวม 14,246.83 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ 501,107.38 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 3.49 ของ จีดีพีประเทศ ขณะที่ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2560 (ม.ค.-ก.ย.) การส่งออกสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับสร้างรายได้เข้าประเทศรวมกว่า 10,662.58 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ 364,020.73 ล้านบาท นับเป็นสินค้าส่งออกสำคัญอันดับ 3 ของประเทศ.-สำนักข่าวไทย