กรุงเทพฯ 5 พ.ย. – ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจฐานราก ธนาคารออมสิน เผยดัชนีความเชื่อมั่นเศรษฐกิจฐานรากไตรมาส 3 ปรับตัวดีขึ้น มีการออมมากขึ้น
นายชาติชาย พยุหนาวีชัย ผู้อำนวยการ ธนาคารออมสิน เปิดเผยว่า ศูนย์วิจัยฯทำการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นเศรษฐกิจฐานราก (GSI) ไตรมาส 3 ปี 2560 จากกลุ่มตัวอย่างประชาชนที่มีรายได้ไม่เกิน 15,000 บาท ทั่วประเทศ 1,941 ตัวอย่าง พบว่า ดัชนี GSI ไตรมาส 3 อยู่ที่ระดับ 46.9 สูงขึ้นจากไตรมาสก่อนที่อยู่ระดับ 46.3 และคาดว่าไตรมาส 4 จะมีการปรับตัวสูงขึ้นอย่างเห็นได้ชัด โดยประชาชนฐานรากรู้สึกว่าเศรษฐกิจภาพรวมดีขึ้น แต่ราคาสินค้าเกษตรที่ยังอยู่ในระดับต่ำส่งผลให้ประชาชนฐานรากยังคงระมัดระวังการใช้จ่าย
สำหรับ GSI ในอนาคตอีก 6 เดือนข้างหน้า ประชาชนฐานรากมีมุมมองดีขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 48.8 ส่วนหนึ่งได้รับการสนับสนุนจากนโยบายภาครัฐที่เป็นรูปธรรมอย่างต่อเนื่อง เช่น โครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐที่จะเริ่มใช้ในเดือนตุลาคม อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาดัชนีความเชื่อมั่นด้านต่าง ๆ เทียบกับไตรมาสก่อน พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นด้านความสามารถชำระหนี้สิน การหารายได้ และภาวะเศรษฐกิจปรับตัวเพิ่มขึ้น ส่วนความสามารถจับจ่ายใช้สอย การออม และโอกาสการหางานทำปรับตัวลดลง เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนพบว่าประชาชนฐานรากเชื่อมั่นเพิ่มขึ้นด้านความสามารถการชำระหนี้สินและการออม ส่วนด้านความสามารถจับจ่ายใช้สอย การหารายได้ โอกาสในการหางานทำ และภาวะเศรษฐกิจปรับตัวลดลง
ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยฯ คาดว่าดัชนีความเชื่อมั่นเศรษฐกิจฐานรากจะปรับตัวสูงขึ้นช่วงปลายปี โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากเศรษฐกิจของประเทศที่ขยายตัวต่อเนื่องจากภาคการส่งออก การใช้จ่ายภาครัฐ และการเข้าสู่ฤดูกาลท่องเที่ยวช่วงปลายปี รวมถึงมาตรการภาครัฐที่ช่วยเหลือประชาชนฐานรากในโครงการประชารัฐสวัสดิการที่จะช่วยเพิ่มกำลังซื้อและสภาพคล่องให้กับประชาชนฐานรากได้ในระดับหนึ่ง
นอกจากนี้ ศูนย์วิจัยฯ ยังสำรวจความคิดเห็นเกี่ยวกับพฤติกรรมการออมของประชาชนระดับฐานรากทั่วประเทศ โดยสอบถามถึงพฤติกรรมการออมของประชาชนฐานรากปัจจุบัน พบว่า ร้อยละ 55.4 มีเงินออม โดยส่วนใหญ่ร้อยละ 59.8 ของผู้ที่มีเงินออมมีการออมแบบรายเดือน จำนวนเงินออมเฉลี่ย 2,000 บาทต่อเดือน เมื่อเทียบกับผลสำรวจช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน พบว่าสัดส่วนผู้ที่มีเงินออมเพิ่มขึ้น โดยไตรมาส 3 ปี 2559 สัดส่วนประชาชนระดับฐานรากมีเงินออมอยู่ที่ร้อยละ 41.6 ของกลุ่มตัวอย่าง
ผอ.ออมสิน กล่าวว่า จากข้อมูลข้างต้นจะเห็นว่ามากกว่าครึ่งหนึ่งของกลุ่มตัวอย่างมีการออมเงินและผู้ที่มีการออมส่วนใหญ่ออมอย่างสม่ำเสมอ อาจเป็นรายวัน รายสัปดาห์ หรือรายเดือน นอกจากนี้ ยังพบว่าประชาชนฐานรากมีสัดส่วนผู้ที่ออมเพิ่มขึ้นจากปี 2559 ซึ่งอาจเป็นผลมาจากการที่หลายหน่วยงาน ทั้งภาครัฐและเอกชนร่วมกันส่งเสริมการออมและเผยแพร่คำสอนของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ที่ทรงสอนให้คนไทยประหยัดอดออม และดำเนินชีวิตแบบพอเพียง.-สำนักข่าวไทย