กรุงเทพฯ 31 ต.ค. – ปตท.คาดราคาน้ำมันขายปลีกปีหน้าจะใกล้เคียงช่วงนี้ มองโอเปกขยายเวลาลดกำลังผลิตต่อส่งผลปีหน้าราคาน้ำมันดูไบเฉลี่ย 52-57 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ด้าน สนพ.เตรียมหารือคลังแก้อุปสรรค Energy Storage
นายเทวินทร์ วงศ์วานิช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) กล่าวในงานสัมมนา “2017 The Annual Petroleum Outlook Forum” โดยทีมวิเคราะห์สถานการณ์น้ำมันของกลุ่ม ปตท.หรือ PRISM ร่วมกับกลุ่มอุตสาหกรรมโรงกลั่นน้ำมันปิโตรเลียม สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ว่า การติดตามสถานการณ์ราคาน้ำมันเพื่อนำไปประกอบการตัดสินใจการลงทุนของภาครัฐ/เอกชน ซึ่งปัจจุบันการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีหรือ Disruptive Technology จะมีบทบาทมากขึ้น
ทั้งนี้ ทีม PRISM ได้คาดการณ์ราคาน้ำมันดิบดูไบปี 2561 เฉลี่ยอยู่ที่ 52-57 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรลเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากปี 2560 ที่คาดว่าราคาเฉลี่ยจะอยู่ที่ 45-55 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ขณะที่คาดว่าการใช้น้ำมันทั้งโลกจะขยายตัวที่ 1.4-1.5 ล้านบาร์เรลต่อวัน ซึ่งเป็นผลจาก 3 ปัจจัย คือ 1.เศรษฐกิจโลกที่คาดว่าปี 2561 จะโตร้อยละ 3.7 จากปีนี้ที่โตร้อยละ 3.6 ปัจจัยที่ 2 คือ เทคโนโลยีที่แม้ว่ารถยนต์ไฟฟ้า (อีวี) จะโตก้าวกระโดดแต่ก็มีรถดังกล่าวทั่วโลกเพียง 2 ล้านคัน คิดเป็นร้อยละ 0.1 ของรถทั่วโลกเท่านั้น เพราะยังมีราคาสูงวิ่งได้ระยะสั้น จึงยังไม่มีนัยสำคัญในการลดใช้น้ำมัน และ 3. นโยบายสิ่งแวดล้อมที่ยังไม่ชัดเจนในการลดปริมาณก๊าซเรือนกระจกมากน้อยเพียงใด
กลุ่ม PRISM ประเมินราคาน้ำมันดิบดูไบปี 2561 ไว้ 2 กรณี คือ กรณีที่กลุ่มโอเปกและนอกโอเปกหารือวันที่ 30 พฤศจิกายนนี้ และมีมติต่อมาตรการลดกำลังผลิตไป 1.8 ล้านบาร์เรล/วัน ไปจนถึงเดือนมิถุนายน 2561 ราคาเฉลี่ยจะอยู่ที่ 50-55 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล กรณีที่ 2 ลดกำลังผลิตถึงเดือนธันวาคม 2561 จะอยู่ที่ 52-57 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล สาเหตุที่ราคาที่ไม่ได้สูงมากนัก เพราะยังคงมีสหรัฐที่จะยังคงผลิตน้ำมันจากขั้นหินดินดานหรือเชลล์ออยล์และทำให้คาดว่าการผลิตน้ำมันปี 2561 จะขยายตัวประมาณ 1.7-2 ล้านบาร์เรลต่อวัน
นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการกลุ่มธุรกิจปิโตรเลียมขั้นปลาย ปตท. กล่าวว่า หากราคาน้ำมันดิบดูไบ 50-57 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ก็ประเมินว่าราคาขายปลีกจะใกล้เคียงกับราคาปัจจุบันเพราะขณะนี้ราคาน้ำมันดิบดูไบอยู่ที่ 55เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล และจากการประเมินจีดีพีปีหน้าของไทยจะอยู่ที่ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 3 จึงคาดว่าความต้องการใช้น้ำมันในประเทศปี 2561 จะโตร้อยละ 1-2 จากปีนี้โต ร้อยละ 1.5
ดังนั้น ปตท.ยังคงเดินหน้าขยายการลงทุนด้านสถานีบริการน้ำมันและโครงสร้างพื้นฐานอื่น ๆ อย่างต่อเนื่อง โดยการสร้างปั๊มใหม่จะคงอยู่ 150 แห่งต่อปี ในส่วนนี้จะเป็นการขยายเพื่อบริการความต้องการใหม่ที่เพิ่มขึ้นและทดแทนปั๊มเก่าที่ปิดลง 40-50 แห่ง โดยคาดว่าปีหน้าจะมีปั๊มน้ำมัน 1,600 แห่ง ส่วนการสร้างโซลาร์รูฟท็อปในปั๊มน้ำมันคาดว่าจะเริ่มปี 2561 จากเดิมที่จะทำปีนี้ เพราะการสร้างจะเน้นไปยังที่ปั๊มใหม่ เพราะโครงสร้างพื้นฐานทำได้ทันที
นายสุกฤตย์ สุรบถโสภณ ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมโรงกลั่นน้ำมันปิโตรเลียม ส.อ.ท. กล่าวว่า ราคาน้ำมันดิบปี 2561 แม้จะปรับเพิ่มขึ้นยังเป็นไปในกรอบที่แคบ ๆ เนื่องจากสหรัฐเริ่มกลับมาผลิต Shale Oil เพิ่มขึ้นในขณะนี้ แม้ว่าโอเปกจะลดกำลังการผลิตลง นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยที่ต้องติดตาม เช่น การเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีที่จะก้าวไปได้เร็วเพียงใด โดยเฉพาะแบตเตอรี่สำรองในรถไฟฟ้า นโยบายการเมืองที่หลายประเทศอาจมีการเปลี่ยนแปลงจากการเลือกตั้ง โดยคาดว่าความต้องการน้ำมันจะขยายตัวไปอีก10-20 ปีข้างหน้าแม้อีวีจะเริ่มเข้ามามีส่วนแบ่งตลาดเพิ่มขึ้น
นายทวารัฐ สูตะบุตร ผู้อำนวยการ สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน หรือ สนพ. กล่าวว่า เทคโนโลยีใหม่ ทำให้การใช้พลังงานทดแทนขยายตัวรวดเร็ว เช่น ราคาไฟฟ้าจาก Solar rooftop จะใกล้เคียงจากไฟฟ้าในระบบที่ 3.20 บาท ใน 1-2 ปีนี้ และเพื่อสร้างความมั่นคงของระบบ ก็ต้องส่งเสริมระบบกักเก็บพลังงานหรือ Energy Storage ที่ใช้แบตเตอรี่ควบคู่ไปด้วย ดังนั้น ต้องพิจารณาว่าจะแก้อุปสรรคอย่างไร เช่น ปัจจุบันแบตเตอรี่ต้องเสียภาษีสรรพสามิต ก็ต้องหารือกับกระทรวงการคลังจะแก้ปัญหาอย่างไร เพราะไม่เช่นนั้นก็จะกลายเป็นต้นทุนค่าไฟฟ้า.-สำนักข่าวไทย