กทม.มั่นใจยังสามารถรับมือน้ำในปัจจุบันได้

สำนักการระบายน้ำ 28 ต.ค. – สำนักการระบายน้ำ กทม.แจงสื่อ สยบประเด็นความกังวลต่อสถานการณ์น้ำในโซเชียลมีเดีย


นายภัทรุตม์ ทรรทรานนท์ ปลัดกรุงเทพมหานคร ได้มอบหมายให้นายณรงค์ เรืองศรี รองผู้อำนวยการสำนักการระบายน้ำ กรุงเทพมหานคร ชี้แจงประเด็นความกังวลต่อสถานการณ์น้ำ เนื่องจากโซเชียลมีเดียจำนวนมากแสดงความคิดเห็นในเชิงวิตกกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์น้ำในขณะนี้ โดยมองว่ามีความเป็นไปได้ที่อาจเกิดสถานการณ์น้ำท่วมเหมือนเมื่อปี 2554 อีกทั้งแสดงความไม่เชื่อมั่นต่อการบริหารจัดการน้ำของภาครัฐ จึงเรียกร้องให้รัฐบาลสรุปสถานการณ์น้ำที่ชัดเจน พร้อมแจ้งเตือนประชาชนในพื้นที่ต่างๆ ว่าน้ำท่วมหรือไม่ อย่างไร เพื่อให้ประชาชนสามารถเตรียมตัวขนย้ายสิ่งของได้ทันสถานการณ์นั้น โดยประเมินสถานการณ์แล้ว กทม.ยังสามารถรับมือน้ำในปัจจุบันได้

สำนักการระบายน้ำ กรุงเทพมหานคร ได้ประเมินสถานการณ์น้ำในพื้นที่กรุงเทพฯ จาก 3 องค์ประกอบ ได้แก่ น้ำฝน น้ำเหนือ และน้ำทะเลหนุน ซึ่งสถานการณ์ปัจจุบันของ 3 น้ำ ณ วันที่ 25 ต.ค. 60 เป็นดังนี้ 


1.ข้อมูลจากกรมชลประทาน แจ้งปริมาณน้ำเหนือที่ไหลผ่านแม่น้ำเจ้าพระยา ช่วง อ.บางไทร จ.พระนครศรีอยุธยา มีค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 2,702 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที

 2.ระดับน้ำทะเลหนุน โดยเมื่อ 25 ต.ค.60 น้ำทะเลหนุนสูงสุดเมื่อเวลา 09.52 น. ระดับน้ำอยู่ที่ 1.08 เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง ส่งผลให้ระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณปากคลองตลาดอยู่ที่ระดับ 1.96 เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง ยังต่ำกว่าระดับคันกั้นน้ำแม่น้ำเจ้าพระยาของกรุงเทพมหานคร ประมาณ 0.84 เมตร ทั้งนี้ ระดับแนวคันกั้นน้ำแม่น้ำเจ้าพระยาของกรุงเทพมหานคร มีระดับ 2.80-3.50 เมตร จากระดับน้ำทะเลปานกลาง 

3.สถานการณ์ฝน ปัจจุบันปริมาณฝนรวมในกรุงเทพมหานคร อยู่ที่ 2,167.6 มิลลิเมตร จากรายงานของกรมอุตุนิยมวิทยาแจ้งว่านับจากวันที่ 25 ต.ค. 60 ปริมาณฝนจะเริ่มลดลงและเข้าสู่ฤดูหนาวต่อไป จากการประเมินสถานการณ์ทั้ง 3 น้ำ จึงสรุปได้ว่ากรุงเทพมหานครยังสามารถรับมือกับสถานการณ์น้ำที่เกิดขึ้นในปัจจุบันได้ 


ส่วนสภาพพื้นที่ลุ่มต่ำเสี่ยงต่อการเกิดน้ำท่วม โดยเฉพาะชุมชนนอกแนวคันกั้นน้ำนั้น กรุงเทพมหานครได้เตรียมการและวางแผนบริหารจัดการน้ำ สร้างระบบป้องกันน้ำท่วมและระบบระบายน้ำ เพื่อแก้ไขปัญหาน้ำท่วมในพื้นที่ ได้แก่ 

ก่อสร้างแนวป้องกันน้ำท่วมริมแม่น้ำเจ้าพระยา คลองบางกอกน้อย และคลองมหาสวัสดิ์ ความยาวรวม 77 กิโลเมตร สามารถป้องกันน้ำไหลบ่าจากริมแม่น้ำเจ้าพระยาเข้าท่วมในพื้นที่ได้ถึงระดับ 3.00 เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง หรือรองรับน้ำผ่านแม่น้ำเจ้าพระยาไม่เกิน 3,000 ลบ.ม./วินาที แต่หากระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยามีปริมาณมาก ชุมชนที่อยู่นอกแนวคันกั้นน้ำเจ้าพระยา คลองบางกอกน้อย และคลองมหาสวัสดิ์ จะได้รับผลกระทบจำนวน 18 ชุมชน ในพื้นที่ 10 เขต รวม 430 หลังคาเรือน ซึ่งกรุงเทพมหานครได้เตรียมการช่วยเหลือในด้านต่างๆ ไว้แล้ว เช่น วางกระสอบทรายในแนวฟันหลอ การสร้างสะพานไม้เป็นทางเดินเข้าออกชุมชน และแจ้งเตือนให้เฝ้าระวัง เป็นต้น 

การป้องกันน้ำท่วมด้านตะวันออกของกรุงเทพมหานคร ได้ก่อสร้างคันกั้นน้ำพระราชดำริ เพื่อป้องกันน้ำไหลจากพื้นที่ด้านตะวันออกเข้าท่วมพื้นที่ชั้นใน ความยาว 72 กิโลเมตร สามารถป้องกันน้ำไหลบ่าจากพื้นที่ด้านนอกได้ที่ระดับความสูง 2.50 – 3.50 เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง 

การระบายน้ำในพื้นที่ฝั่งตะวันตกของกรุงเทพมหานครผ่านคลองสายหลัก สำหรับน้ำที่ไหลผ่านจังหวัดนนทบุรีบางส่วนจะไหลเข้าสู่คลองมหาสวัสดิ์และระบายออกสู่แม่น้ำท่าจีน ส่วนน้ำที่ระบายผ่านพื้นที่ของกรุงเทพฯ จะระบายผ่านคลองทวีวัฒนา คลองซอย คลองขุนศรีฯ และคลองควาย และน้ำบางส่วนจะระบายผ่านคลองบางกอกน้อยลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยา น้ำส่วนที่เหลือจะระบายลงสู่แก้มลิงคลองสนามชัย – มหาชัย ซึ่งอยู่ทางตอนล่างของพื้นที่และจะระบายสู่ทะเลต่อไป 

ส่วนมาตรการหากเกิดน้ำทะเลหนุนริมแม่น้ำเจ้าพระยาคือ เร่งตรวจสอบความแข็งแรงจุดรั่วซึมของแนวป้องกันน้ำท่วมริมแม่น้ำเจ้าพระยา คลองบางกอกน้อย คลองมหาสวัสดิ์ และเรียงกระสอบทรายในบริเวณที่แนวป้องกันน้ำท่วมมีระดับต่ำ ติดตามสถานการณ์น้ำทะเลหนุนสูง และส่งเจ้าหน้าที่ตรวจตราจุดที่คาดว่าจะมีปัญหาน้ำรั่วซึมเข้าท่วมพื้นที่อย่างต่อเนื่อง ตรวจสอบความพร้อมของเครื่องสูบน้ำให้พร้อมทำงานตลอดเวลา รวมถึงดำเนินการขุดลอกคลอง เตรียมความพร้อมสถานีสูบน้ำ เตรียมเครื่องสูบน้ำเคลื่อนที่ ติดตั้งเครื่องสูบน้ำเพิ่มประสิทธิภาพในพื้นที่จุดเฝ้าระวังมากขึ้น เตรียมความพร้อมหน่วยสนับสนุนช่วยเหลือประชาชน และติดตั้งเครื่องผลักดันน้ำเพื่อเตรียมความพร้อมในป้องกันและแก้ไขปัญหาน้ำท่วมในพื้นที่ตลอดเวลาด้วย

นอกจากนี้ กรุงเทพมหานครได้เตรียมความพร้อมแผนเผชิญเหตุฉุกเฉินกรณีน้ำหลากเข้ามาในพื้นที่ เช่น ติดตั้งเครื่องสูบน้ำ ตามจุดที่เสี่ยงต่อการเกิดปัญหาน้ำท่วม ควบคุมและลดระดับน้ำในคลอง บ่อสูบน้ำ และแก้มลิงให้อยู่ในระดับต่ำ แจ้งเตือนสถานการณ์ฝนตกให้ผู้บริหารและผู้ปฏิบัติงานภาคสนามผ่านระบบวิทยุสื่อสาร Trunked Radio แจ้งเตือนสำนักงานเขตผ่านวิทยุสื่อสารเครือข่าย “อัมรินทร์” แจ้งเตือนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องผ่านกลุ่ม Line “เตือนภัยน้ำท่วม กทม.” ส่งหน่วยปฏิบัติการเร่งด่วน (BEST) ประจำจุดเสี่ยงและจุดสำคัญเพื่อเร่งระบายน้ำ และแก้ปัญหาด้านการการจราจร ช่วยอำนวยความสะดวกการจราจร การปิดเส้นทางที่น้ำท่วม ทหารช่วยเหลือประชาชน หากมีระดับน้ำท่วมสูง หากเกิดเหตุน้ำท่วมในพื้นที่จะจัดตั้งศูนย์บูรณาการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมโดยมีผู้อำนวยการเขตพื้นที่เป็นผู้บัญชาการเหตุการณ์.- สำนักข่าวไทย

ดูข่าวเพิ่มเติม

Top Viewed • อ่านมากสุด

ดูทั้งหมด

ตึกถล่มพบเสียชีวิตเพิ่ม

พบผู้เสียชีวิตเพิ่ม 5 ราย ทีมกู้ภัยเร่งกู้ร่าง

พบผู้เสียชีวิตเพิ่ม 5 ราย ในพื้นที่โซน B และโซน C มีซากอาคารถล่มทับร่างอยู่ ทีมกู้ภัยเร่งกู้ร่างและค้นหาผู้สูญหายใต้ซากอาคารต่อเนื่อง

ชายวัย 50 ไหว้ขอโทษ ไม่มีเจตนากุเรื่องเมียท้อง 4 เดือน ติดใต้ซากตึก สตง.

ชายวัย 50 ปี ยกมือไหว้ขอโทษ ไม่มีเจตนากุเรื่องภรรยาท้อง 4 เดือน ติดใต้ซากอาคาร สตง.ถล่ม ด้านรอง ผบช.น. เตือนอย่าใช้โอกาสที่มีผู้ประสบเหตุสร้างความสงสารหลอกเอาทรัพย์สิน มีความผิดฐานฉ้อโกงประชาชน

ออกแล้ว! ผลตรวจเหล็ก 28 ชิ้น ตึก สตง.ถล่ม พบไม่ได้มาตรฐาน 13 ชิ้น

ผลตรวจตัวอย่างเหล็ก 28 ชิ้น ตึก สตง.ถล่มจากแผ่นดินไหว พบได้มาตรฐาน 15 ชิ้น ไม่ได้มาตรฐาน 13 ชิ้น ยังไม่สรุปเป็นสาเหตุตึกถล่ม ชี้ต้องดูหลายองค์ประกอบ

ข่าวแนะนำ

พ่อขอของขวัญวันเกิดให้ลูกชายรอดชีวิตจากตึก สตง.ถล่ม

พ่อของหนุ่มขอนแก่น วัย 35 ปี หนึ่งในผู้สูญหายจากอาคาร สตง.ถล่ม ขอของขวัญวันเกิดให้ลูกชายรอดชีวิต ส่วนหนุ่มช่างประปา วัย 32 ปี เหยื่อตึก สตง.ถล่ม เผาแล้ว แม่ยังทำใจไม่ได้ สะอื้นไห้หน้าเมรุ

“ชัชชาติ” เผยเตรียมกู้ 5 ร่างที่พบ-ขนย้ายชิ้นส่วนอาคารแล้ว 100 ตัน

ผู้ว่าฯ กทม. เผยเตรียมกู้ 5 ร่าง จาก 14 ร่างที่พบ ขนย้ายชิ้นส่วนอาคารแล้ว 100 ตัน ยันไม่ขีดเส้นตายหยุดช่วยเหลือ ปรับแผนเพิ่มการรื้อถอนด้วยเครื่องจักรหนักควบคู่ไปมากขึ้น