กรุงเทพฯ 23 ต.ค. – กรมชลประทานเตรียมทยอยเพิ่มระบายน้ำเขื่อนเจ้าพระยาเป็น 2,700 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที หวังลดพื้นที่น้ำท่วมบริเวณเหนือเขื่อนไม่ให้ขยายวงกว้าง พร้อมประสานกองทัพเรือนำเรือผลักดันน้ำกว่า 50 ลำ และเครื่องผลักดันน้ำของกรมชลประทานอีก 53 เครื่อง ติดตั้งในแม่น้ำท่าจีน เร่งระบายน้ำออกสู่ทะเลให้เร็วที่สุด
นายสมเกียรติ ประจำวงษ์ อธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า ในช่วงวันที่ 19 – 22 ตุลาคมมีฝนตกกระจายต่อเนื่องในพื้นที่ภาคกลาง ตั้งแต่ท้ายเขื่อนเจ้าพระยาลงมา กรมชลประทานจึงใช้พื้นที่ว่างเหนือเขื่อนเจ้าพระยาชะลอน้ำไว้ โดยคงการระบายท้ายเขื่อนเจ้าพระยาด้วยอัตราเดิม 2,600 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที รวมทั้งตัดยอดปริมาณน้ำแบ่งรับน้ำเข้าพื้นที่ลุ่มต่ำทั้งสองฝั่งผ่านระบบชลประทานอย่างเต็มศักยภาพ แต่ระดับน้ำบริเวณเหนือเขื่อนเจ้าพระยายังคงสูงขึ้น จนปัจจุบันอยู่ที่ระดับ +17.44 เมตร (รทก.)
ทั้งนี้ เพื่อไม่ให้เกิดน้ำล้นคันกั้นน้ำบริเวณเหนือเขื่อนเจ้าพระยา ซึ่งจะส่งผลให้เกิดน้ำท่วมขยายวงกว้างเกินกว่าจะควบคุมได้ จึงจำเป็นต้องเพิ่มปริมาณน้ำผ่านเขื่อนเจ้าพระยา จากเดิม 2,600 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที อีก 100 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที โดยจะค่อย ๆ ทยอยเพิ่มการระบายตั้งแต่วันนี้ (23 ต.ค.) เวลา 13.00 น.จนถึงอัตรา 2,700 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาทีในวันพรุ่งนี้ (24 ต.ค.) จากนั้นจะคงการระบายน้ำในอัตรานี้ต่อเนื่องไปอีก 1 สัปดาห์ หากไม่มีปริมาณฝนตกเพิ่มจะเริ่มลดปริมาณการระบายลงตามลำดับ ลักษณะดังกล่าวที่เกิดขึ้น ประกอบกับอิทธิพลของน้ำทะเลหนุนสูงช่วงวันที่ 23 – 27 ตุลาคม จะส่งผลให้ระดับน้ำท้ายเขื่อนเจ้าพระยา ตั้งแต่จังหวัดชัยนาท สิงห์บุรี และอ่างทอง จะสูงขึ้นประมาณ 25 เซนติเมตร ส่วนตั้งแต่ จ.พระนครศรีอยุธยา ลงมาถึงปทุมธานี ระดับน้ำจะสูงขึ้นประมาณ 20 เซนติเมตร เว้นแต่จะได้รับอิทธิพลของน้ำทะเลหนุนและฝนตกในพื้นที่
นายสมเกียรติ กล่าวว่า กรมชลประทานได้รับการสนับสนุนเรือผลักดันน้ำจากกองทัพเรือติดตั้งในแม่น้ำท่าจีนบริเวณ จ.สมุทรสาคร 55 ลำ ขณะนี้ติดตั้งเสร็จพร้อมเดินเครื่อง 35 ลำ นอกจากนี้ ยังมีเครื่องผลักดันน้ำของกรมชลประทานอีก 53 เครื่อง ติดตั้งในแม่น้ำท่าจีนบริเวณ จ.นครปฐม ช่วยเร่งระบายน้ำจากพื้นที่ฝั่งตะวันตกของลุ่มน้ำเจ้าพระยาออกสู่ทะเลให้เร็วขึ้น ควบคู่กับการใช้ประตูระบายน้ำคลองลัดโพธิ์ อันเนื่องมาจากพระราชดำริ เร่งระบายน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาในช่วงที่น้ำลงได้วันละประมาณ 29 ล้าน ลบ.ม.-สำนักข่าวไทย