ทำเนียบฯ 17 ต.ค.-รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯ แจงรายงานสถานการณ์น้ำต่อนายกฯ เมื่อวานนี้ (16 ต.ค.) มั่นใจน้ำเหนือไม่กระทบกรุงเทพฯ และปริมณฑล
พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี ว่า ได้นำเสนอสถานการณ์น้ำต่อนายกรัฐมนตรี หลังจากเมื่อวานนี้ (16 ต.ค.) นายกรัฐมนตรีได้เรียกตนและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่ดูแลเรื่องนี้มาชี้แจงสถานการณ์ โดยจากที่กรมอุตุนิยมวิทยาได้พยากรณ์อากาศว่าพายุขนุนไม่มีผลกระทบต่อประเทศไทยแล้ว จึงหมดกังวลเรื่องนี้ไป แต่ประเทศไทยยังมีฝนตกเนื่องมาจากร่องมรสุม ซึ่งเมื่อเวลา 04.00 น. ที่ผ่านมา พบว่าอยู่ประมาณตอนกลางและตอนเหนือของประเทศ จึงทำให้ตอนเหนือยังมีฝนตกอยู่ โดยทางภาคอีสานตอนบน รวมถึงภาคกลางยังมีฝนตกอยู่ ดังนั้นจึงได้สรุปเรื่องการระบายน้ำต่อนายกรัฐมนตรี ได้แก่ ทางภาคอีสาน ซึ่งพบอยู่ 2 เรื่อง คือ ร่องมรสุมดังกล่าวและเขื่อนที่มีความจุน้ำเต็มเขื่อน คือ เขื่อนอุบลรัตน์ ดังนั้นการระบายน้ำของภาคอีสานคือการระบายน้ำจากฝนตกที่เกิดจากร่องมรสุมและระบายน้ำจากเขื่อนอุบลรัตน์ลงมา โดยผลกระทบจากเขื่อนอุบลรัตน์ลงมาจะกระทบจังหวัดมหาสารคาม ร้อยเอ็ด ยโสธร และลงมาเชื่อมถึงลุ่มน้ำมูล
พล.อ.ฉัตรชัย กล่าวว่า เรื่องการระบายน้ำอยู่ภายใต้การจัดการของคณะกรรมการบริหารจัดการน้ำของจังหวัด รวมถึงผู้ว่าราชการจังหวัดที่ได้พูดคุยกันแล้ว โดยการระบายน้ำจะเป็นในลักษณะขั้นบันได จาก 30 ลูกบาศก์เมตร จนถึงปัจจุบันในปริมาณ 46 ลูกบาศก์เมตร และจะสูงสุดที่ประมาณ 54 ลูกบาศก์เมตร ซึ่งการระบายน้ำเช่นนี้จะส่งผลให้พื้นที่ตามลุ่มน้ำชี ตั้งแต่จังหวัดมหาสารคามลงมา มีปริมาณน้ำที่สูงขึ้นมา จากที่ท่วมอยู่แล้วประมาณ 20-30 เซ็นติเมตร ซึ่งผู้ว่าราชการจังหวัดได้รับทราบแนวทางการระบายน้ำเช่นนี้อยู่แล้ว โดยทั้งหมดนี้จะระบายน้ำไปสู่แม่น้ำโขง ซึ่งขณะนี้ได้ให้กรมชลประทานติดตั้งเครื่องสูบน้ำ และผลักดันน้ำเพิ่มเติมที่ปากทางแม่น้ำโขงด้วย ส่วนทางแม่น้ำมูลที่อยู่ทางตอนล่างยังไม่ค่อยมีผลกระทบ
พล.อ.ฉัตรชัย กล่าวด้วยว่า สำหรับทางด้านภาคเหนือ ในส่วนต้นของลุ่มน้ำเจ้าพระยา ขณะนี้ได้สั่งปิดการระบายน้ำที่เขื่อนภูมิพลและเขื่อนสิริกิติ์ ตั้งแต่วันที่ 7 ตุลาคมที่ผ่านมา เวลานี้คงจะมีน้ำจากลุ่มแม่น้ำยมเท่านั้นที่ไหลลงมา และด้วยการบริหารจัดการน้ำ คิดเตรียมการไว้ล่วงหน้า จึงได้ใช้พื้นที่แก้มลิงทางธรรมชาติ คือที่บางระกำ ซึ่งขณะนี้ปริมาณน้ำในบางระกำก็เต็มแล้ว และพื้นที่ใกล้เคียงรวม 450,000,000 ลูกบาศก์เมตร แต่ท้ายที่สุด น้ำทั้งหมดจะลงมาที่จังหวัดนครสวรรค์ ซึ่งขณะนี้ปริมาณน้ำไหลผ่านอยู่ที่ 2,800 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ซึ่งนับว่าแตกต่างจากเหตุการณ์เมื่อปี 2554 ที่มีปริมาณน้ำอยู่ที่ 4,600 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที และเมื่อน้ำมารวมอยู่ที่แม่น้ำเจ้าพระยาในจังหวัดนครสวรรค์แล้ว จะผลักดันน้ำออกทางซ้ายและขวาก่อนที่จะถึงเขื่อนเจ้าพระยา ซึ่งในส่วนของเขื่อนเจ้าพระยาจะพยายามควบคุมไม่ให้เกิน 2,600 ลูกบาศก์เมตร โดยปัจจุบันนี้มีปริมาณน้ำที่ 2,597 ลูกบาศก์เมตร ซึ่งน้ำที่ไหลลงมาด้านล่างจนกระทั่งถึงบางไทร จะอยู่ที่เกณฑ์ 2,800 ลูกบาศก์เมตร ซึ่งถือว่าห่างจากจุดวิกฤติเป็นจำนวนมาก ดังนั้นจะมีผลกระทบตั้งแต่ใต้เขื่อนชัยนาทลงมา คือ จังหวัดชัยนาท สิงห์บุรี อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา จนถึงจังหวัดปทุมธานี และนนทบุรี โดยพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบส่วนใหญ่จะอยู่นอกคันกันน้ำ ทั้งนี้หากพื้นที่ด้านที่อยู่เหนือจังหวัดนครสวรรค์ขึ้นไปมีปริมาณฝนลดลง ก็จะปรับลดการระบายน้ำลง แต่ก็ต้องดูสถานการณ์วันต่อวัน โดยยืนยันว่าการระบายน้ำสูงสุดในเขื่อนเจ้าพระยาจะไม่ให้เกิน 2,600 ลูกบาศก์เมตร
ส่วนผลกระทบที่จะเกิดในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล พล.อ.ฉัตรชัย กล่าวว่า เกิดจากเมื่อ 2-3 วันที่ผ่านมา ฝนตกหนัก ทำให้พื้นที่กรุงเทพฯ มีน้ำที่รอการระบาย แต่ในส่วนของจังหวัดนนทบุรีและปทุมธานี จะมีผลกระทบเรื่องน้ำทะเลหนุนที่ทำให้การระบายน้ำช้าลง ขอยืนยันว่าปริมาณน้ำในเขื่อนภูมิพลมีอยู่ร้อยละ 66 และเขื่อนสิริกิติ์มีอยู่ร้อยละ 80 ดังนั้นหากมีฝนตกในพื้นที่เหนือ ทั้งสองเขื่อนสามารถรองรับปริมาณน้ำได้อีก จึงยืนยันว่าน้ำจากเหนือจะไม่กระทบต่อพื้นที่กรุงเทพฯ เพราะทางด้านเหนือจะมีเพียงร่องความกดอากาศเท่านั้น ปริมาณฝนมีไม่มาก ทั้งสองเขื่อนจึงสามารถรองรับน้ำได้ ไม่ปล่อยลงมา ทั้งนี้ หากฝนตกอย่างหนักในพื้นที่ด้านล่าง จะใช้พื้นที่กักเก็บน้ำใต้เขื่อนเจ้าพระยาทั้งหมด 12 ทุ่ง คล้ายกับบางระกำ ซึ่งขณะนี้กักเก็บน้ำอยู่ที่ร้อยละ 70 จึงยังสามารถรองรับน้ำได้อีกร้อยละ 30 หรือกว่า 300 ล้านลูกบาศก์เมตร
“ขณะที่มาตรการการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมนั้น นายกรัฐมนตรีได้สั่งการแล้วว่าให้ทุกส่วนราชการเข้าไปดูแลพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ โดยเฉพาะพื้นที่เกษตรที่กระทรวงเกษตรฯ ได้ของบประมาณสนับสนุนจากรัฐบาล เพื่อเข้าไปดูแล ส่วนพื้นที่กรุงเทพฯ หากในวันนี้มีฝนตกอีก ก็เป็นหน้าที่ของกรุงเทพมหานครในการระบายน้ำ แต่ย้ำว่าน้ำเหนือไม่มีผลกระทบต่อการระบายน้ำในพื้นที่กรุงเทพมหานคร” พล.อ.ฉัตรชัย กล่าว.-สำนักข่าวไทย