กรุงเทพฯ 5 ต.ค.-การอัญเชิญพระโกศพระบรมศพพระมหากษัตริย์ขึ้นสู่ราชรถและพระเมรุมาศ ตามโบราณราชประเพณี มีเกรินบันไดนาค และสะพานเกริน ซึ่งเป็นการผสานองค์ความรู้ทางด้านศิลปศาสตร์และวิทยาศาสตร์ไว้ด้วยกัน
“เกรินบันไดนาค” อุปกรณ์ใช้อัญเชิญพระโกศพระบรมศพขึ้น-ลงจากราชรถและพระเมรุมาศ แทนการใช้นั่งร้านไม้ต่อยกสูงแบบสมัยโบราณ ที่ใช้กำลังคนยก ซึ่งมีความลำบาก ไม่สะดวก เปลี่ยนมาทำเป็นรางเลื่อนขึ้นลงด้วยกว้านหมุน ลักษณะเหมือนลิฟต์ในปัจจุบัน เป็นแท่นสี่เหลี่ยม ขอบฐานแกะสลักลายปิดทองประดับกระจก ท้ายเกรินเป็นพื้นลดระดับลงมา ซึ่งเป็นที่สำหรับเจ้าพนักงานภูษามาลาขึ้นนั่งประคองพระโกศพระบรมศพ มีลักษณะคล้ายท้ายสำเภา ด้านข้างบุผ้าตาดทอง มีราวทั้งสองข้างตกแต่งเป็นรูปพญานาค จึงเรียกว่า “เกรินบันไดนาค” คิดค้นโดยสมเด็จพระสัมพันธวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงพิทักษ์มนตรี เมื่อ พ.ศ. 2354 ใช้ครั้งแรกในงานพระเมรุรัชกาลที่ 1 เกรินบันไดนาค กว้าง 1.525 เมตร ยาว 2.365 เมตร สูง 4.40 เมตร ส่วนฐานมีความกว้าง 1.786 เมตร ยาว 3.06 เมตร จำนวนพลในการควบคุม 20 นาย
สะพานเกรินเป็นที่เคลื่อนพระโกศพระบรมศพ จากราชรถปืนใหญ่ขึ้นบนพระเมรุมาศ ก่อนเคลื่อนเข้าสู่พระจิตกาธานประดิษฐานบนพระเมรุมาศ ด้วยระบบกว้านหมุน ตั้งอยู่บริเวณทิศเหนือ ความยาว 40 เมตร เอียงมุม 70 องศา การจัดสร้างเป็นรูปพญานาค เพราะเป็นสัญลักษณ์สื่อถึงการเชื่อมต่อระหว่างโลกมนุษย์สู่สรวงสวรรค์ เป็นนาคเศียรเดียวเพื่อไม่ให้บดบังพระโกศพระบรมศพ นาคสวมมงกุฎลักษณะเดียวกับทางขึ้นวัดพระพุทธบาท จ.สระบุรี ส่วนสะพานเป็นลักษณะงานซ้อนไม้ประดับผ้าทองย่น ส่วนตัวเกรินเป็นงานปั้นรูปเหมือนพญานาค เกรินบันไดนาคและสะพานเกรินนับเป็นภูมิปัญญาไทยโบราณที่ประยุกต์คติไตรภูมิ ความเชื่อทางศาสนา และหลักการทุ่นแรงตามหลักวิทยาศาสตร์ให้สอดประสานไว้ด้วยกันได้ลงตัว.-สำนักข่าวไทย