กรุงเทพฯ 27 ก.ย. – กนง.ปรับเพิ่มจีดีพีปีนี้โตร้อยละ 3.8 ผลบวกจากส่งออกพุ่งโตร้อยละ 8 พร้อมคงดอกเบี้ยที่ร้อยละ 1.50
นายจาตุรงค์ จันทรังษ์ ผู้ช่วยผู้ว่าการสายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ในฐานะเลขานุการคณะกรรมการนโยบายการเงิน หรือ กนง. กล่าวว่า ที่ประชุมกนง. ได้ปรับเพิ่มอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทย (จีดีพี) ปีนี้เติบโตร้อยละ 3.8 จากเดิมร้อยละ 3.5 และปรับเพิ่มจีดีพีปี 2561 เติบโตร้อยละ 3.8 จากเดิมร้อยละ 3.7 เนื่องจากเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวชัดเจนขึ้นจากการส่งออกสินค้าและบริการที่ปรับขึ้น โดยการส่งออกขยายตัวเพิ่มเป็นร้อยละ 8 จากเดิมร้อยละ 5 ในปีนี้ และ ขยายตัวร้อยละ 3.2 จากเดิมร้อยละ 1.7 ในปี 2561 ซึ่งเป็นการขยายตัวตามการเติบโตของเศรษฐกิจโลกแม้ว่าเงินบาทเมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าขึ้นร้อยละ 7.9 แต่หากเทียบกับสกุลเงินคู่ค้าและหักเงินเฟ้อ เงินบาทแข็งค่าขึ้นเพียงร้อยละ 2 ซึ่งความสามารถทางการแข่งขันของไทยยังมีอันดับที่ดีขึ้น อยู่ที่ 32 จากอันดับ 34 จากการอันดับของ World Economic Forum
นอกจากนี้ที่ประชุมกนง. มีมติเป็นเอกฉันท์ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ร้อยละ 1.50 ต่อปี ซึ่งเป็นการคงดอกเบี้ยต่อเนื่องมาแล้ว 2 ปี 5 เดือน นับตั้งแต่เดือนเมษายน 2558 โดยการประชุมครั้งนี้กรรมการ 1 ท่าน ลาประชุม ซึ่งกนง. มองว่าอัตราดอกเบี้ยในระดับปัจจุบันอยู่ในระดับที่ผ่อนคลายและสนับสนุนต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจและเอื้อให้เงินเฟ้อทั่วไปกลับไปสู่เป้าหมายได้ โดยคาดว่าเงินเฟ้อจะกลับสู่เป้าหมายในกลางปี 2561 และปรับเงินเฟ้อทั่วไปปีนี้อยู่ที่ร้อยละ 0.6 และ ร้อยละ 1.2 ในปีหน้า
“กนง. เห็นว่าดอกเบี้ยที่ร้อยละ 1.50 เป็นระดับที่เอื้อต่อการขยายตัวเศรษฐกิจ เห็นได้จากอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจปรับสูงขึ้นเกินกว่าที่คาด ซึ่งกนง. มองว่าหากดอกเบี้ยต่ำเป็นเวลานาน อาจทำให้เกิดพฤติกรรมแสวงหาผลตอบแทนที่สูงขึ้น อาจจะเป็นความเสี่ยงค่อเสถียรภาพเศรษฐกิจได้” นายจาตุรงษ์ กล่าว
อย่างไรก็ตาม กนง. ยังติดตามการลงทุนภาครัฐที่ชะลอลงไปบ้าง โดยปรับการลงทุนภาครัฐขยายตัวร้อยละ 5 จากเดิมร้อยละ 7.7 แต่คาดว่าการลงทุนภาครัฐจะเร่งขึ้นในปีหน้าขยายตัวร้อยละ 9.8 และเห็นว่าการบริโภคภาคเอกชนมีแนวโน้มขยายตัวแบบค่อยเป็นค่อยไป ตามกำลังซื้อที่ยังไม่เข้มแข็ง โดยเฉพาะกลุ่มผู้มีรายได้น้อยยังฟื้นตัวไม่ชัดเจน พร้อมติดตามความเสี่ยงจากผลกระทบของมาตรการจัดระเบียบแรงงานต่างด้าวที่อาจมากกว่าคาด แต่เชื่อว่าภาครัฐจะสามารถบริหารจัดการได้.- สำนักข่าวไทย