กรุงเทพฯ 23 ก.ย. – ตลาดจับตาประชุม กนง. 27 ก.ย. กสิกรไทยประเมินเงินบาท 33.00-33.20 บาทต่อดอลลาร์ฯ และดัชนีหุ้นไทยมีแนวรับ 1,635-1,650 จุด
ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) รายงานว่าสัปดาห์ที่ผ่านมา (18-22 ก.ย.) เงินบาทยังแกว่งตัวในกรอบแคบ โดยเงินบาทขยับแข็งค่าเล็กน้อยท่ามกลางแรงซื้อเงินดอลลาร์สหรัฐที่ชะลอลงก่อนการประชุมธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ประกอบกับยังมีแรงหนุนเป็นระยะจากสถานะซื้อสุทธิพันธบัตรไทยของนักลงทุนต่างชาติ อย่างไรก็ตาม เงินบาทต้องลดช่วงบวกทั้งหมดลง และกลับไปยืนในระดับที่อ่อนค่ากว่า 33.10 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ หลังเงินดอลลาร์กลับมาฟื้นตัวขึ้นอย่างแข็งแกร่งจากผลการประชุมเฟดที่ยังสะท้อนโอกาสความเป็นไปได้ของการขึ้นดอกเบี้ยสหรัฐอีก 1 ครั้งในช่วงที่เหลือของปี แต่เป็นที่น่าสังเกตว่าช่วงขาขึ้นของเงินดอลลาร์ยังเป็นไปอย่างจำกัดท่ามกลางความกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์ตึงเครียดระหว่างสหรัฐ และเกาหลีเหนือ สำหรับวันศุกร์ที่ 22 กันยายนที่ผ่านมาเงินบาทอยู่ที่ 33.10 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ จากระดับ 33.08 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐในวันศุกร์ก่อนหน้า (15 ก.ย.)
สำหรับสัปดาห์หน้า (25-29 ก.ย.) ประเมินกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาท 33.00-33.20 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ โดยจุดสนใจของตลาดในประเทศน่าจะอยู่ที่ผลการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) และเครื่องชี้เศรษฐกิจไทยเดือนสิงหาคม ขณะที่ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐที่สำคัญระหว่างสัปดาห์ ได้แก่ ดัชนีราคาบ้านเดือนกรกฎาคม ยอดขายบ้านใหม่ ยอดสั่งซื้อสินค้าคงทน ดัชนียอดทำสัญญาขายบ้านที่รอปิดการขาย ข้อมูลรายได้ การใช้จ่ายส่วนบุคคล และดัชนีราคาเดือนสิงหาคม ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนกันยายน รวมถึงตัวเลขจีดีพีไตรมาส 2/2560 นอกจากนี้ ปัจจัยในต่างประเทศที่สำคัญ ได้แก่ ถ้อยแถลงของประธานเฟดและเจ้าหน้าที่เฟดอื่น ๆ สถานการณ์ในคาบสมุทรเกาหลีและสถานการณ์หลังการเลือกตั้งในเยอรมนี
ด้านตลาดหุ้น ดัชนีปรับตัวลงช่วงปลายสัปดาห์ โดยดัชนีปิดที่ระดับ 1,659.05 จุด จากสัปดาห์ก่อน มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันเพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 6.20 จากสัปดาห์ก่อน มาที่ 63,951.52 ล้านบาท ส่วนตลาดหลักทรัพย์ mai ปิดที่ 574.80 จุด เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.55 จากสัปดาห์ก่อน ส่วนสัปดาห์หน้า (25-29 ก.ย.) บริษัทหลักทรัพย์กสิกรไทย จำกัด มองว่าดัชนีหุ้นไทยมีแนวรับที่ 1,650 และ 1,635 จุด ขณะที่แนวต้านอยู่ที่ 1,665 และ 1,675 จุด ตามลำดับ โดยปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ ผลประชุม กนง.และการกล่าวสุนทรพจน์ของนางเจเน็ต เยลเลน ประธานเฟด ส่วนข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐสำคัญ ได้แก่ ยอดขายบ้านใหม่ ยอดสั่งซื้อสินค้าคงทน ตลอดจนรายได้และรายจ่ายส่วนบุคคลเดือนสิงหาคม ขณะที่ปัจจัยต่างประเทศที่สำคัญอื่น ๆ อาทิ รายงานการประชุมนโยบายการเงินธนาคารกลางญี่ปุ่น, ดัชนีราคาผู้บริโภคของญี่ปุ่นเดือนสิงหาคมและดัชนี PMI ภาคการผลิตเดือนกันยายนของจีน.-สำนักข่าวไทย