สธ.19ก.ย.-กรมสุขภาพจิต พบผู้ป่วยจิตเวชติดบุหรี่สูง สูบหนักเฉลี่ยวันละ 21-30 มวน ตัวการสำคัญก่ออาการกำเริบ พฤติกรรมก้าวร้าว จากสารนิโคตินล้างฤทธิ์ยาที่แพทย์ให้กิน เร่งวิจัยยาลดความอยาก โดยใช้ชาชงหญ้าดอกขาว หรือหญ้าหมอน้อย ดื่มรักษาวันละ 4 เวลา ผลศึกษากลุ่มย่อย พบให้ผลเทียบเท่ายาแผนปัจจุบัน ลดอาการอยาก ลดจำนวนสูบ
น.ต.นพ.บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) ให้สัมภาษณ์ภายหลัง ตรวจเยี่ยมโรงพยาบาล(รพ.)จิตเวชสระแก้วราชนครินทร์ จ.สระแก้ว เพื่อติดตามผลการดำเนินงานการเพิ่มการเข้าถึงการรักษาของผู้ป่วยจิตเวชในเขตสุขภาพที่ 6 ซึ่งมี 8 จังหวัดภาคตะวันออก(สระแก้ว ปราจีนบุรี ฉะเชิงเทรา สมุทรปราการ จันทบุรี ชลบุรี ระยอง ตราด) วันนี้(19ก.ย.) ว่า ในภาพรวม พบว่าผู้ป่วยจิตเวชทุกโรคเข้าถึงบริการ ซึ่งได้ขยายเครือข่ายการรักษาไปถึงรพ.ชุมชนได้ตามเป้าหมาย คือสูงกว่าร้อยละ 70 และมีแนวโน้มดีขึ้น
แต่อย่างไรก็ตามในเชิงประสิทธิภาพยังมีปัญหาสำคัญต้องเร่งแก้ไข โดยพบผู้ป่วยจิตเวชหันไปสูบบุหรี่สูงถึงร้อยละ 50 และมีอาการกำเริบ เช่นมีพฤติกรรมก้าวร้าว หงุดหงิด ต้องกลับเข้ามารักษาซ้ำอีก บางคนติดบุหรี่อย่างหนักโดยเฉพาะผู้ป่วยที่เป็นโรคจิตเภทซึ่งเป็นผู้มีความผิดปกติทางความคิดและพฤติกรรม ใช้มากที่สุด สูบเฉลี่ยคนละประมาณ 21-30 มวนต่อวัน ร้อยละ 98 เป็นผู้ชาย ซึ่งปัญหานี้พบเหมือนกันทั่วประเทศ สาเหตุที่ผู้ป่วยจิตเวชสูบบุหรี่ เนื่องจากฤทธิ์นิโคตินที่อยู่ในบุหรี่ ทำให้ผู้สูบรู้สึกว่ามีความสุข เพิ่มสมาธิ และอาจลดหูแว่ว ขณะเดียวกันฤทธิ์ของนิโคติน สร้างปัญหา โดยจะไปลดฤทธิ์ยาที่ให้ผู้ป่วยกินรักษาอาการหูแว่ว ประสาทหลอน ทำให้การรักษาได้ผลไม่ดีและต้องปรับขนาดยาสูงขึ้นเรื่อยๆ ส่งผลเสียต่อการควบคุมอาการเป็นอันมาก
อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวต่อว่า ได้ให้รพ.จิตเวชสระแก้ว ซึ่งเป็น รพ.แห่งเดียวในสังกัดที่เน้นให้บริการโดยใช้การแพทย์ทางเลือกและสมุนไพรมาใช้บำบัดรักษาผู้ป่วยจิตเวชเพื่อสร้างองค์ความรู้และเทคโนโลยีความเชี่ยวชาญในด้านนี้ให้แก่ รพ.ทั่วประเทศ เนื่องจากประเทศไทยมีสมุนไพรคุณภาพดีจำนวนมาก โดยได้ศึกษาวิจัยการใช้ชาชงจากหญ้าดอกขาวหรือที่เรียกว่า ‘หญ้าหมอน้อย’ ขนาด 1ซองน้ำหนัก 2 กรัม มาให้ผู้ป่วยจิตเวชที่สูบบุหรี่ที่พักรักษาตัวใน รพ.ดื่มเพื่อรักษาการติดนิโคติน และลดการอยากบุหรี่หรือที่เรียกว่า‘เสี้ยนบุหรี่’ ศึกษาในปี2560-2561 เบื้องต้นพบว่าลดการติดนิโคตินและลดการสูบบุหรี่อย่างได้ผล ไม่พบอาการข้างเคียงแต่อย่างใด จะขยายผลศึกษาต่อในปี 2561ใช้งบประมาณ 3 แสนบาท เพื่อพัฒนาขั้นตอนรักษาให้เป็นมาตรฐานระดับประเทศและขยายผลรักษากลุ่มประชาชนที่ติดบุหรี่และมีพฤติกรรม อารมณ์ผิดปกติ เช่น หงุดหงิด โมโหง่าย ซึ่งผลสำรวจของกรมสุขภาพจิตในปี 2556 และปี 2559ในกลุ่มอายุตั้งแต่ 13 ปีขึ้นไปพบผู้มีปัญหามากถึง 3 ล้านกว่าคน เป็นเยาวชนอายุ 13-17 ปี เกือบ 1 แสนคน
ทั้งนี้ สำหรับชาหญ้าดอกขาวมีรสขมฝาด มีความปลอดภัยค่อนข้างสูง ไม่เป็นสารก่อมะเร็ง ไม่ทำให้เซลล์กลายพันธุ์ จากงานวิจัยมีการค้นพบว่ามีสารสำคัญ 8 ชนิด มีฤทธิ์ยับยั้งสารที่ลดการขับสารโคตินออกทางปัสสาวะ เช่นสารซีวายพี2 เอ6 (CYP2A6 ) สารเอ็มเอโอเอและบี (MAO-A,B) และยังพบว่าในหญ้าดอกขาวยังมีสารนิโคตินเล็กน้อยด้วย ซึ่งจะมีผลต่อระบบประสาทส่วนกลาง ทำให้สารสื่อประสาทคือโดปามีน ( Dopamine) ในกระแสเลือดเพิ่มขึ้น ทำให้ผู้ป่วยอยากยาน้อยลง โดยใช้ทั้ง 4 ส่วน คือดอก ใบ ลำต้น และราก ตากแห้งแล้วนำมาบดเป็นผง .-สำนักข่าวไทย