กรุงเทพฯ 12 ก.ย.-นอกจากการหารือความร่วมมือในทางยุทธศาสตร์เศรษฐกิจระหว่างสองประเทศแล้ว ยังมีการพบกันของนักลงทุนเอกชนทั้ง 2 ประเทศ เพื่อสร้างโอกาสในการลงทุน ซึ่งนักลงทุนชาวญี่ปุ่นส่วนใหญ่ให้ความสำคัญกับโครงสร้างพื้นฐาน และสนใจอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับยานยนต์และอิเล็กทรอนิกส์
การใช้เทคโนโลยีระบบอัตโนมัติเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการผลิตในโรงงาน คือแนวคิดที่นักธุรกิจญี่ปุ่นจากบริษัทเอกชนรายนี้ นำมาถ่ายทอดเป็นแนวทางให้กับนักธุรกิจจากประเทศญี่ปุ่นกว่า 500 คน ซึ่งเดินทางมาประชุมความร่วมมือทางยุทธศาสตร์เศรษฐกิจระหว่างไทยกับญี่ปุ่น เพื่อเป็นข้อมูลก่อนจะตัดสินใจเข้ามาลงทุนในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออกหรืออีอีซีของไทย ซึ่งเป็นพื้นที่การลงทุนที่สอดคล้องกับแนวคิดที่เรียกว่า connected industries ของรัฐบาลญี่ปุ่นซึ่งกำลังผลักดันการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเชื่อมต่อกับระบบอุตสาหกรรม จะช่วยยกระดับอุตสาหกรรมเดิมให้มีมูลค่ามากขึ้น รองนายกรัฐมนตรีของไทยบอกว่า พื้นที่ในประเทศไทยถือเป็นฐานการผลิตที่สำคัญของญี่ปุ่น ซึ่งเป็นประเทศที่มีบริษัทที่เข้ามาลงทุนในไทยเป็นอันดับ 1 คือมากกว่าร้อยละ 40 จากบริษัทต่างชาติทั้งหมด ทำให้ญี่ปุ่นกลายเป็นพี่เลี้ยงในการพัฒนาทั้งบุคลากรและระบบการผลิตในภาคอุตสาหกรรม โดยใช้เทคโนโลยีขั้นสูงให้กับนักธุรกิจไทยได้เป็นอย่างดี และยังมีการร่วมกันผลักดันให้ไทย เป็นศูนย์กลางการถ่ายทอดเทคโนโลยีไปยังประเทศอื่นในภูมิภาค ในการหารือความร่วมมือทางเศรษฐกิจไทยและญี่ปุ่นครั้งนี้ ยังมีการจับคู่ทางธุรกิจระหว่างเอกชนกับเอกชน เพื่อเพิ่มโอกาสในการลงทุนทั้งอุตสาหกรรมด้านยานยนต์ ด้านอิเล็กทรอนิกส์ ด้านการบริการ และมากที่สุดคืออุตสาหกรรมด้านสุขภาพ เทคโนโลยีชีวภาพและอาหารที่มีเอกชนให้ความสนใจกว่า 100 ราย
เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรืออีอีซี ระบุว่าการมาเยือนไทยของนักธุรกิจญี่ปุ่นครั้งนี้ ส่วนใหญ่ให้ความสนใจความคืบหน้าในการจัดสร้างโครงสร้างพื้นฐาน ในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก ซึ่งมีหลายอุตสาหกรรมที่คาดว่าจะเกิดขึ้น โดยเฉพาะอุตสาหกรรมยานยนต์และอากาศยาน อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์และโรบอติก ซึ่งสอดคล้องกับแนวคิดของนักธุรกิจชาวญี่ปุ่นที่เน้นการใช้เทคโนโลยีมาเป็นเครื่องมือหลักในกระบวนการผลิต มีการคาดการณ์ว่า ในอีก 5 ปีข้างหน้ามูลค่าการลงทุนในพื้นที่อีอีซีของไทยตั้งแต่ ฉะเชิงเทรา ชลบุรีและระยอง จะสูงถึง 43,000 ล้านดอลล่าสหรัฐ ซึ่งกว่าร้อยละ 80 จะเป็นเงินลงทุนจากภาคเอกชนที่ต้องการสร้างอุตสาหกรรมเกิดใหม่ เช่นอุตสาหกรรมหุ่นยนต์ เพื่อการอุตสาหกรรม อุตสาหกรรมการบินซึ่งใช้สนามบินอู่ตะเภาเป็นศูนย์กลาง และอุตสาหกรรมพลังงานเคมีชีวภาพ .-สำนักข่าวไทย