อสมท 11 ก.ย.-ระบบประกันภัยสัตว์เลี้ยงระหว่างการขนส่ง พบว่าเป็นที่แพร่หลายในปัจจุบัน แต่อาจมีช่องโหว่ทำให้กลุ่มมิจฉาชีพหรือพวกฉลาดแกมโกงนำมาใช้ก่อเหตุ
การประกันภัยสุนัขระหว่างขนส่ง ส่วนใหญ่จะเป็นการตกลงกันระหว่างผู้ให้บริการกับผู้รับบริการ ไม่จำกัดเฉพาะสุนัข แต่อาจรวมถึงสัตว์เลี้ยงขนาดเล็ก ทั้งแมว กระต่าย หรือนก ส่วนใหญ่ค่าเบี้ยประกันที่ผู้รับบริการต้องจ่ายอยู่ที่ประมาณร้อยละ 10 ของราคาสุนัข หรือตามแต่เงื่อนไขและข้อตกลงกันเอง อาทิ สุนัขราคา 20,000 บาท ต้องจ่ายเงินค่าเบี้ยประกัน 2,000 บาท ไม่รวมกับค่าขนส่ง ซึ่งเงื่อนไขหลัก คือ หากตายระหว่างเดินทางด้วยอุบัติเหตุ หรือขาดอากาศหายใจระหว่างขนส่ง ผู้ประกอบการจะชดใช้เป็นเงินในสัดส่วนร้อยละ 80 ตามราคาของสัตว์เลี้ยงตัวนั้นๆ หรืออาจเต็มราคาตามเงื่อนไขและข้อตกลง แต่ส่วนใหญ่จะไม่จ่ายเงินประกันเกินราคาของสัตว์เลี้ยงที่นำมาแสดงก่อนการขนส่ง
พฤติการณ์ของผู้ก่อเหตุคนนี้ คือ ไปซื้อสุนัขมาในราคาหลักพันบาท แต่อ้างว่าซื้อมาในราคา 50,000 บาท หลังจากนั้นก็ได้วางยาฆ่าสุนัขให้ตายระหว่างทางเพื่อเอาเงินประกัน ซึ่งจะทำให้เกิดส่วนต่างจากกำไรค่อนข้างมาก แม้ผู้ก่อเหตุไม่ได้เงินประกันจากผู้ประกอบการ เพราะว่าสุนัขทั้ง 2 ตัวตายหลังการขนส่ง แต่ตามกฎหมายถือว่าผู้ก่อเหตุกระทำผิดฐานฉ้อโกงทันที
ตามประมวลกฎหมายอาญา ความผิดฐานฉ้อโกง ระบุไว้ในมาตรา 341 ว่าหากใครกระทำทุจริตหลอกคนอื่นด้วยข้อความเท็จหรือปิดบังความจริง เพื่อหลอกเอาทรัพย์สินจากผู้ถูกหลอกหลวง มีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี ปรับไม่เกิน 6,000 บาท รวมถึงมาตรา 347 ที่อาจเข้าข่ายกรณีแกล้งทำให้ทรัพย์สินเสียหาย เพื่อรับผลประโยชน์จากประกันภัย ตรงนี้มีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี ปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ.-สำนักข่าวไทย