กรุงเทพฯ 8 ก.ย. – คาด 18 ปีข้างหน้า หรือปี 2035 พื้นที่เกษตรจะลดน้อยลงหลังเมืองขยายตัว แนะเตรียมบริหารที่ดิน- น้ำให้มีประสิทธิภาพ เก็บภาษีมลพิษทางน้ำรวมทั้งค่าน้ำเพื่อการเกษตร และรับมือน้ำขาดแคลนหากอีอีซีแจ้งเกิด
ในงานสัมมนา “ภาพอนาคตในปี 2935 : ที่ดินพลังงานและน้ำในประเทศไทย” จัดโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) และสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ ) ซึ่งมีการดูถึงนโยบายรัฐบาลหลายด้าน เช่น 10 อุตสาหกรรมแห่งอนาคต นโยบายพัฒนาการเกษตร โครงสร้างพื้นฐาน การท่องเที่ยว การขยายตัวของเมืองใหญ่การเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีของโลก มีการพัฒนานวัตกรรม ตามนโยบายไทยแลนด์ 4.0 โดยทีมวิจัยประเมินว่าใน 18 ปีข้างหน้าจีดีพีไทยที่มีโอกาสเป็นไปได้มากสุด คือขยายตัวร้อยละ 3.73-3.85 การใช้พลังงานจะเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.5-5 ต่อปี
นายนณริฏ พิศลยบุตร นักวิชาการทีดีอาร์ไอ กล่าวว่า ใน 18 ปีข้างหน้าภาคอุตสาหกรรม ภาคขนส่งและภาคบริการขยับดีขึ้นมีเพียงด้านการเกษตรลดลง อย่างไรก็ตาม หากประเทศไทยไม่มีนโยบายใหม่อะไรออกมาเลยเศรษฐกิจจะชะลอตัว และการเข้าสู่สังคมสูงวัยไทยจะประสบปัญหาแรงงานขาดแคลนพึ่งพาต่างด้าว ขณะที่สังคมจะต้องเข้ามาดูแลผู้สูงอายุมากขึ้น เศรษฐกิจไทยจะขยายตัวเพียงร้อยละ 2.54 กรณีมุ่งเน้นภาคการเกษตร และร้อยละ 2.87 กรณีพึ่งพาภาคบริการ และหากพัฒนาโดยอาศัยกรอบยุทธศาสตร์ชาติ หากเทียบเคียงเกาหลีใต้ (ภาคอุตสาหกรรมเข้มข้น) จีดีพีจะโตร้อยละ 3.95 และแบบฝรั่งเศส (พึ่งพาบริการหรือการท่องเที่ยว) จีดีพีไทยจะขยายตัวร้อยละ 2.89
นายอุชุก ด้วงบุตรศรี อาจารย์ ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวว่า การใช้ที่ดินและน้ำด้านท่องเที่ยว , อุตสาหกรรมจะเพิ่มขึ้น พื้นที่เกษตรจะลดลงร้อยละ 11.59-4.35 จาก 138 ล้านไร่ในปี 2557 เหลือ 122-132 ล้านไร่ใน 18 ปีข้างหน้า นับได้ว่าที่ดินเกษตรลดลงอย่างรวดเร็วภายหลังยกเลิกโครงการจำนำสินค้าเกษตรและประกันรายได้เกษตรกร ขณะที่การใช้ที่ดินสาขาที่อยู่อาศัยจะขยายตัวสูงสุด อย่างไรปัจจัยหักเหยังจะเกิดจาก พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและ พ.ร.บ.การเช่าที่ดินเกษตร ที่กำหนดให้เช่า 6 ปี, ภาวะ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลก (climate change)
“ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างจะเป็นตัวกระตุ้นการใช้ประโยชน์ที่ดินมากขึ้น โดยในไทยคนรวยถือครองที่ดินร้อยละ 80 เกษตรกรไร้ที่ดินทำกินเพิ่มขึ้น ภาครัฐจะหาที่ดินทำกินให้เกษตรกรปัญหาจะวนมาถึงพื้นที่ป่า ที่ลดลง” นายอุชุก กล่าว
ทั้งนี้ ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา (2550-2559) การใช้ที่ดินในไทยมีการขยายตัวของชุมชนเมืองและสิ่งปลูกสร้าง,ที่ดินรกร้างลดน้อยลง 1.96 ล้านไร่, พื้นที่ป่าลดลงมากถึง 7.32 บ้านไร่, นาข้าวลดลง 5.28 ล้านไร่, ไม้ยืนต้นเพิ่มขึ้น 10.40 ล้านไร่ และพืชไร่เพิ่มขึ้น 2.54 ล้านไร่
นายนิพนธ์ พัวพงศกร นักวิชาการเกียรติคุณทีดีอาร์ไอ กล่าวว่า ในส่วนน้ำความต้องการน้ำเพื่ออุปโภคบริโภคเพิ่มขึ้น รวมทั้งภาคธุรกิจ ซึ่งประชากรเมืองใช้น้ำต่อหัวมากกว่าโดย 18 ปีข้างหน้าเขตนครหลวงใช้ 452 ลูกบาศก์เมตรต่อหัว ภูมิภาค 339.84 ลูกบาศก์เมตรต่อหัว ขณะที่นักท่องเที่ยวหากเพิ่มขึ้นจาก 34ล้านคน/ปี เป็น 50-60 ล้านคน/ปี จะมีผลให้การใช้น้ำพื้นที่ท่องเที่ยวสูงขึ้นเป็น 500 ลิตร/คน/วัน ในพื้นที่ชายทะเล และ 350 ลิตร/คน/วัน ในพื้นที่อื่น ๆ
อย่างไรก็ตาม การจัดการในอนาคตขึ้นอยู่กับโครงการใหญ่ของภาครัฐจะเกิดขึ้นตามแผนหรือไม่ เช่น โครงการระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออกหรืออีอีซี กรมชลประทานประเมินว่าจะมีความต้องการน้ำเพิ่มเป็น 600 ล้านลูกบาศก์เมตร/เป็นจริงหรือไม่ โดยกรมชลฯ ประเมินว่าบนพื้นฐานแหล่งน้ำปัจจุบันจะมีเพียงพอเพียง 300 ล้านลูกบาศก์เมตร ส่วนที่เหลือต้องพัฒนาใหม่หรือโครงการรับซื้อจากต่างประเทศ เช่น “สตึงมนัม” จากกัมพูชา ซึ่งเรื่องนี้ขึ้นอยู่กับการพัฒนาพื้นที่จะเกิดขึ้นได้ตามแผนหรือไม่ และต้องดูด้วยว่าการคาดการณ์แม่นยำหรือไม่ โดยในภาคตะวันออกพบว่าฝนตกมาก แต่เก็บน้ำได้เพียงร้อยละ 12 ขณะที่ความต้องการในพื้นที่โตร้อยละ 6-7 ต่อปี ซึ่งมีการประเมินว่าอนาคตจะขาดแคลนอย่างรุนแรงและต้องแย่งชิงกันระหว่างภาคเศรษฐกิจ
นายนิพนธ์ กล่าวว่า การใช้น้ำทีมวิจัยเสนอว่าเพื่อให้เกิดการจัดการน้ำที่เหมาะสมแก้ปัญหาอุปสงค์ส่วนเกินควรเดินหน้าจัดเก็บค่าบำรุงรักษาคลองชลประทาน ศึกษาการจัดเก็บค่าน้ำ การแก้ไขกฏหมายที่เป็นอุปสรรคต่อการคิดค่าน้ำดิบจากการประปาฯ และเพื่อแก้ไขปัญหาคุณภาพน้ำ ควรจัดเก็บภาษีมลพิษในน้ำและภาษีนำเข้าสารเคมีการเกษตร
“เรื่องการเก็บค่าน้ำภาคการเกษตรควรจะจัดเก็บเพื่อให้เกิดการใช้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งสามารถกำหนดอัตราต่ำได้ แต่เรื่องนี้นักการเมืองจะต่อต้านโดยตลอด” นายนิพนธ์ กล่าว. – สำนักข่าวไทย