กระทรวงคลัง 7 ก.ย. – ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจหารือตัวแทนเครือข่ายกองทุนหมู่บ้านฯ ยืนยันกลุ่มออมทรัพย์ใต้ร่มเงา พ.ร.บ.สถาบันการเงินชุมชนสิทธิประโยชน์เพียบ สร้างความเข้มแข็งองค์กรการเงินชุมชน
นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจ เปิดเผยว่า หลังจากหารือร่วมกับตัวแทนเครือข่ายกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง เพื่อสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับร่าง พ.ร.บ.สถาบันการเงินชุมชน พ.ศ. …. (ร่าง พ.ร.บ.) จึงพร้อมนำร่างกฎหมายมาปรับปรุง โดยเฉพาะ “สถาบันการเงินชุมชน” อาจซ้ำซ้อนกับการใช้ชื่อสถาบันการเงินชุมชนของกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง ซึ่งมีกฎหมายรองรับแล้ว และในร่างกฎหมายดังกล่าวจะเปิดให้กองทุนหมู่บ้านกว่า 80,000 กองทุน กลุ่มออมทรัพย์ 40,000 กองทุน รวมกว่า 120,000 ราย สมัครใจเข้าอยู่ภายใต้ พ.ร.บ.ฉบับใหม่ โดยจะมีเงื่อนไขกำหนดภายใต้กำกับการดูแลของกระทรวงการคลังเหมือนกับธนาคารภายใต้กำกับดูแลของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)
ทั้งนี้ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้ฝากเงินว่ามีมาตรการดูแลจากภาครัฐ ทั้งได้รับการอบรม ปรับปรุงระบบบัญชี ระบบบริหารที่เป็นมาตรฐาน ทั้งการโอนเงิน รับฝากเงิน การให้สินเชื่อกับสมาชิกในชุมชน โดยมีธนาคารออมสิน ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เป็นพี่เลี้ยง การกำหนดเพดานการปล่อยกู้ไม่เกินร้อยละ 3 ต่อเดือน การจัดสรรสวัสดิการแยกบัญชีชัดเจน การเป็นช่องทางรับฝากเงินรายเดือนของสมาชิกกองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) สำหรับข้อกำหนดที่เข้มงวดจะห้ามปล่อยกู้ข้ามเขตจังหวัด เนื่องจากเงินออมทรัพย์ของชุมชมหากข้ามจังหวัดจะติดตามคืนลำบากไม่เหมือนกับแบงก์รายใหญ่ ดังนั้น เมื่อสถาบันการเงินชุมชนมีกฎหมายกำกับดูแลจะช่วยสร้างเงินทุนหมุนเวียนในชุมชนให้มีมาตรฐานมากขึ้น เมื่อเปิดเวทีรับฟังความเห็นจากทุกฝ่ายเตรียมสรุปร่าง พ.ร.บ. สถาบันการเงินชุมชน เพื่อเสนอ ครม.พิจารณาในช่วง 1-2 เดือนข้างหน้า
สำหรับร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวมีหลักการ ดังนี้ 1.ร่าง พ.ร.บ.มีวัตถุประสงค์เพื่อรับรององค์กรการเงินชุมชนให้มีสถานะเป็นนิติบุคคลตามกฎหมายและสามารถใช้สถานะการเป็นนิติบุคคลทำนิติกรรมรูปแบบต่าง ๆ โดยการขอจดทะเบียนเป็นองค์กรการเงินชุมชนภายใต้ร่าง พ.ร.บ.นี้ได้โดยสมัครใจ และหากองค์กรการเงินชุมชนใดต้องการดำเนินการแบบเดิมตามที่ปฏิบัติภายใต้กฎหมายเดิมของตนเองก็สามารถกระทำได้ ในการนี้ องค์กรการเงินระดับชุมชนใดที่มีความพร้อมและต้องการได้รับการสนับสนุนและส่งเสริมก็สามารถมาขอรับการจดทะเบียนตาม พ.ร.บ.นี้ได้ 2.ร่าง พ.ร.บ.กำหนดให้องค์กรการเงินชุมชนมีหน้าที่บริหารจัดการและรับผิดชอบเงินของสมาชิกเอง โดยมีธนาคารผู้ประสานงานสนับสนุนด้านระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ โดยไม่มีบทบัญญัติให้หน่วยงานรัฐหรือธนาคารผู้ประสานงานมีอำนาจหน้าที่ในการบริหารจัดการเงินของประชาชน หรือกำหนดให้องค์กรการเงินชุมชนต้องแบ่งปันกำไรหรือนำส่งเงินให้กับหน่วยงานของรัฐแต่อย่างใด
3. ร่าง พ.ร.บ.กำหนดให้องค์กรการเงินชุมชนจะได้รับการสนับสนุนและส่งเสริมจากธนาคารผู้ประสานงานไม่ว่าจะเป็นในด้านของระบบเทคโนโลยีสารสนเทศสำหรับการให้บริการทางการเงินขององค์กรการเงินชุมชน การตรวจสอบด้านการบริหารจัดการและการบริหารความเสี่ยงเพื่อรักษาผลประโยชน์ของสมาชิก และการสนับสนุนทางการเงินเพื่อส่งเสริมและพัฒนาระบบองค์กรการเงินชุมชน ซึ่งจะช่วยสร้างความยั่งยืน ในการดำเนินงานให้แก่องค์กรการเงินชุมชนอย่างมีเสถียรภาพต่อไปในการนี้ กระทรวงการคลัง โดยสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) จะปรับปรุงร่าง พ.ร.บ.ตามความเห็นของเครือข่ายกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง เพื่อให้มีความเหมาะสมกับบริบทขององค์กรการเงินระดับชุมชน พร้อมทั้งปรับเปลี่ยนชื่อสถาบันการเงินชุมชนที่ปรากฏในร่าง พ.ร.บ.เป็นชื่ออื่นตามข้อเสนอแนะของเครือข่ายกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองเพื่อไม่ให้ซ้ำซ้อนกับสถาบันการเงินชุมชนที่มีอยู่ในปัจจุบัน.- สำนักข่าวไทย