สิงห์บุรี 7 ก.ย. – เกษตรกรรุ่นใหม่ใน อ.ค่ายบางระจัน จ.สิงห์บุรี เพาะพันธุ์ปูนาขาย เริ่มจากเป็นคนชอบกินปูนา แต่เห็นว่าปูนาหาได้ยากขึ้น จึงเลี้ยงและขยายพันธุ์จนเป็นฟาร์ม มีลูกค้ามาขอซื้อไม่ขาด
ปานศิริ ปาดกุล เลี้ยงปูนามาได้ 3 ปีแล้ว เลี้ยงไปศึกษาไป พบว่าปูนาจะผสมพันธุ์ปีละครั้ง ในหน้าฝน ส่วนหน้าแล้งจะขุดรูอาศัยความชื้นใต้ดิน แต่เมื่อฝนมาจะออกจากรูมาผสมพันธุ์กัน เขาจึงนำวิธีการนี้มาทำให้ปูนาในฟาร์มออกไข่นอกฤดู โดยหลังจากปูผสมพันธุ์ในหน้าฝนตามปกติแล้ว เขาจะปล่อยให้พ่อพันธุ์แม่พันธุ์อยู่ในบ่อดิน งให้ดินแห้งสนิท จากนั้นจึงฉีดน้ำเลียนแบบฝนเทียมในฟาร์มเลี้ยงกบ เพื่อสร้างความชื้น ปูนาก็จะผสมพันธุ์กัน ปูนาในฟาร์มของเขาผสมพันธุ์กันปีละ 3 ครั้ง
คุณปานศิริ ขายทั้งพ่อแม่พันธุ์ รวมถึงปูสดที่มีอายุ 2 เดือนครึ่งขึ้นไป ปูขนาดที่ใช้ตำส้มตำกิโลกรัมละ 80-100 บาท ก้ามปูกิโลกรัมละ 1,000 บาท ปูนิ่มหรือปูที่อยู่ระหว่างลอกคราบ กิโลกรัมละ 1,200 บาท ขณะนี้มียอดสั่งซื้อจากจีนและสหรัฐ เพื่อไปปรุงอาหารในร้านอาหารไทย และผู้ที่ชื่นชอบอาหารสุขภาพ คุณปานศิริจึงหาลูกฟาร์มเพื่อรวบรวมสินค้าให้ได้ตามจำนวนที่สั่งอย่างต่อเนื่อง
การเลี้ยงปูนาตามประสบการณ์ของคุณปานศิริ มีข้อดี คือ เลี้ยงง่าย ให้กินอาหารเม็ดสำหรับปลาได้ อีกทั้งไม่มีโรคซึ่งต่างจากกุ้ง และไม่ต้องเสี่ยงเหมือนการเลี้ยงปลาที่ตายยกกระชังได้ เมื่อน้ำหลากหรือน้ำแล้ง ปูที่ตายในบ่อส่วนใหญ่กัดกันตาย ให้รีบเก็บทิ้งก็จะไม่ก่อโรค
คุณปานศิริ บอกว่า สัตว์พื้นบ้านอย่างปูนาที่กำลังจะสูญพันธุ์ เมื่อนำมาเพาะเลี้ยงและทำตลาดดี ๆ ก็ไม่ใช่สินค้าเกษตรธรรมดา ๆ แต่สร้างรายได้เป็นกอบเป็นกำจนครอบครัวของเขามั่นคง. – สำนักข่าวไทย