กรุงเทพฯ 6 ก.ย. – กระทรวงอุตฯ จับมือ 3 บริษัทยักษ์ใหญ่ ผุดนิคมอุตสาหกรรมอาหารครบวงจร เชื่อรายใหญ่ดันเอสเอ็มอีติดปีก เตรียมชง ครม.พิจารณาแพ็คเกจสิทธิพิเศษภายใน ก.ย. – ต.ค.นี้
นายสมชาย หาญหิรัญ ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยถึงความคืบหน้าการขับเคลื่อนนโยบายการพัฒนาอุตสาหกรรมอาหารของไทยรูปแบบประชารัฐ หรือจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมอาหารครบวงจร (World Food Valley Thailand) ภายใต้แนวคิดเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ โดยร่วมกับเอกชนรายใหญ่ ว่า ปัจจุบันกระทรวงฯ ลงนามกับบริษัท สิงห์คอร์เปอเรชั่น จำกัด จัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมอาหาร ไปแล้ว 1 แห่ง จังหวัดอ่างทอง เนื้อที่ 1,300 ไร่ และมีแผนที่จะลงนามเร็ว ๆ นี้ ร่วมกับบริษัท น้ำตาลราชบุรี จัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมอาหารจังหวัดราชบุรี ซึ่งเป็นแหล่งผลิตอาหารที่ต่อยอดมาจากอ้อย และร่วมกับ บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) จัดตั้งฟู้ดวัลเลย์ ที่อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา
นายสมชาย กล่าวว่า การพัฒนาเอสเอ็มอีให้เติบโตขึ้นเป็นสิ่งสำคัญ ผู้ประกอบการรายใหญ่สามารถเป็นพี่เลี้ยงสนับสนุนผู้ประกอบการรายย่อยได้ โมเดลนี้จะเริ่มจากอุตสาหกรรมเครื่องดื่มและอาหาร โดยผู้ประกอบการที่เข้าไปลงทุนในโครงการ World Food Valley Thailand จะได้ประโยชน์จากการใช้วัตถุดิบในพื้นที่ เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มและพัฒนาสินค้าใหม่ ๆ เชื่อมโยงทั้งต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ และจะได้รับสิทธิประโยชน์พิเศษยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลเพิ่มจากมาตรการส่งเสริมของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือบีโอไอ และผู้เชี่ยวชาญที่เข้ามาทำงานในพื้นที่ก็จะได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา และจะมีสิทธิพิเศษอื่น ๆ อีก ซึ่งแพ็คเกจต่าง ๆ เหล่านี้อยู่ระหว่างการพิจารณาอัตราที่เหมาะสม คาดว่าจะนำเสนอเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี (ครม.) ภายในเดือนกันยายน – ตุลาคมนี้
นายยงวุฒิ เสาวพฤกษ์ ผู้อำนวยการสถาบันอาหาร กล่าวว่า ปัจจุบันมีโรงงานอุตสาหกรรมอาหารประมาณ 110,000 ราย ในจำนวนนี้เป็นเอสเอ็มอีถึงร้อยละ 99.5 ขณะที่เป็นผู้ประกอบการขนาดใหญ่เพียง ร้อยละ 0.5 หรือประมาณ 600 ราย มีสัดส่วนมูลค่าการผลิตคิดเป็นร้อยละ 65 ของทั้งอุตสาหกรรมอาหาร ต้องเพิ่มการแปรรูปวัตถุดิบการเกษตรมากขึ้น และคิดค้นผลิตภัณฑ์ที่หลากหลาย เช่น การแปรรูปข้าวจากเดิมที่ส่งออกเป็นข้าวสารทั้งหมด ตั้งเป้าเพิ่มการแปรรูปข้าวอย่างน้อย ร้อยละ 30
สำหรับยุทธศาสตร์อุตสาหกรรมอาหาร แผนงานหลักจะเป็นการเพิ่มนักรบพันธุ์ใหม่ หรือผู้ประกอบการอุตสาหกรรมรายใหม่ที่มีความเข้มแข็งและมีเทคโนโลยีให้ได้ 35,000 ราย ภายใน 20 ปี หรือเพิ่มปีละ 1,750 ราย และยกระดับผู้ประกอบการขนาดกลาง เพื่อขยายฐานการผลิตให้กว้างขึ้น.-สำนักข่าวไทย