ทำเนียบฯ 6 ก.ย.-นายกรัฐมนตรี ขอสร้างความเข้าใจและการรับรู้ของประชาชน ก่อนเข้าสู่สู่สังคมดิจิทัล ต้องเห็นประโยชน์สามารถต่อยอดธุรกิจทุกภาคส่วนได้ ปัดหารือเรื่องกสทช.ชงคืนคลื่นทีวีดิจิทัล แนะหาวิธีการอื่นตามความเหาะสมก่อน
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือ บอร์ด ดีอี ที่ทำเนียบรัฐบาล โดยนายกรัฐมนตรี แถลงถึงผลการประชุมว่าการก้าวสู่สังคมดิจิทัลนั้นจะต้องดำเนินการในหลายรูปแบบอย่างเป็นระบบ ดาต้าเซ็นเตอร์ การขยายเครือข่าย Wifi อินเตอร์เนต ในทุกหมู่บ้าน และจัดทำให้ครอบคลุมงานในทุกมิติให้ได้มากที่สุด สำหรับการติดตั้ง wifi หมู่บ้านจะต้องสร้างความรู้ความเข้าใจกับประชาชนให้เตรียมพร้อมและทำให้เกิดประโยชน์สูงสุด ทั้งภาคธุรกิจ เอสเอ็มอีและเกษตรกร จะเป็นการขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัลของประเทศ ในการขยายฐานการจัดจำหน่ายบนอินเตอร์เน็ตและเพิ่มมูลค่าสินค้าให้มีความเชื่อมโยงกับภาคเศรษฐกิจและมีส่วนร่วมกับรายได้ของประเทศในทุกมิติ ซึ่งสิ่งสำคัญต้องสร้างการรับรู้และความรู้ความเข้าใจกับประชาชน ว่าโครงสร้างดิจิทัลนั้น ส่งผลต่อการปฎิรูปประเทศอย่างมาก ทั้งนี้รัฐบาลพยายามเร่งพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านต่างๆ เพื่อให้ประชาชนได้ประโยชน์สูงสุด
“แต่สิ่งที่ต้องระวังคือการสร้างความเข้าใจ ในโอกาสที่จะเข้าสู่การเปลี่ยนผ่าน ที่จะต้องใช้เวลาพอสมควร ซึ่งเชื่อว่าระยะแรกที่เข้าสู่ดิจิทัลต้องมีปัญหาแน่นอนเพราะเป็นการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของคนสู่การเปลี่ยนแปลงสู่การใช้งานทุ้งหมด เราจึงต้องพัฒนาการเรียนรู้ไปด้วย ว่าเราจะใช้อย่างไร เมื่อถึงเวลาได้ใช้ได้ทันที หากประชาชนยังไม่รู้ว่าจะได้ประโยชน์อย่างไรก็ต้องมาเสียเวลากันอีกครั้ง อยากให้สื่อข่วยกันสร้างความเข้าใจด้วย ผมถือว่าดิจิทัลจะเป็นสิ่งที่ทำให้ประเทศปฎิรูปได้เร็วขึ้น” นายกรัฐมนตรี กล่าว
เมื่อถามถึงกรณีที่ กสทช. เสนอใช้มาตรา 44 ออกมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการทีวีดิจิทัล โดยให้ทีวีดิจิทัลสามารถคืนคลื่นทีวีดิจิทัลได้นั้น พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า เรื่องนี้ไม่มีการหารือกันในที่ประชุมวันนี้ และไม่มีใครส่งเรื่องมาถึงตน แต่ขอให้ไปหาวิธีการอื่นที่เหมาะสมกว่านี้ และดูผลกระทบที่จะเกิดขึ้นตามมาด้วย ตนให้แนวทางไปว่าให้ไปคิดให้ดีลองไปวิธีการอื่นก่อน หากไม่ได้ค่อยมาหารือกันอีกที ไม่ใช่ใครขออะไรก็ให้หมด
“ซึ่งวันนี้ทุกปัญหาเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นมาก่อนที่ตนจะเข้ามารับตำแหน่งทั้งสิ้น และยังไม่ได้นับการแก้ไขจากอดีตเลย พอถึงเวลาก็ต้องมาบังคับใช้ตามกฎหมาย หากคุยกันก่อนและไม่ต้องบังคับกัน จะเป็นไปด้วยความยินยอมพร้อมใจของทุกคนไม่ได้หรือ เพราะถ้าเรายังติดตรงนี้อยู่ก็เดินหน้าประเทศต่อไปไม่ได้ เปลี่ยนแปลงไม่ได้ก็เหมือนเดิมทั้งหมด ผมก็ให้แนวคิดไปคิดกันแบบนี้ก่อน”นายกรัฐมนตรี กล่าว.-สำนักข่าวไทย