กระทรวงการต่างประเทศ 1 ก.ย.- “วิษณุ” ย้ำ การมีตัวแทนศาลยุติธรรมร่วมวางยุทธศาสตร์ชาติเพื่อป้องกันการกระทบสิทธิของประชาชน ระบุ ไม่ต้องกล่าวอ้าว “มงแต็สกีเยอ” หากปฏิเสธกระบวนการยุติธรรม
นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวปาฐกถาในหัวข้อ “ทิศทางกระบวนการยุติธรรมไทยต่อการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติ” ให้กับ คณะทูตานุทูตนักศึกษาในโครงการอบรมหลักสูตรผู้บริหารกระบวรการยุติธรรมระดับสูง ผู้บริหารกระทรวงยุติธรรม และผู้ช่วยผู้บริหารกระทรวงยุติธรรม ภายในห้อง วิเทศสโมสร กระทรวงการต่างประเทศ
นายวิษณุ กล่าวว่า การจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ถือเป็นครั้งแรกของประเทศไทย เพราะก่อนหน้ามีเพียงการจัดทำแผนพัฒนาในด้านต่าง ๆ ซึ่งมีระยะเวลาของแผนมากที่สุดคือ 5 ปี เช่น แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ดังนั้นยุทธศาสตร์ชาติ ถือเป็นเป้าหมายในการพัฒนาประเทศในระยะยาว ที่แต่ละด้านมีความสำคัญและความจำเป็น การวางยุทธศาสตร์ชาติอาจมีบางเรื่องที่ไปกระทบกับงานของศาลยุติธรรม ซึ่งในพระราชบัญญัติว่าด้วยยุทธศาสตร์ชาติ ได้กำหนดให้มีตัวแทนของศาลยุติธรรมเข้าร่วมในการวางยุทธศาสตร์ชาติด้วย เพื่อป้องกันผลกระทบและการละเมิดสิทธิเสรีภาพของประชาชน
รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ประเทศไทยมีกฎหมายที่ล้าหลัง แต่เมื่อจะมีการแก้ไขหรือยกเลิกมักจะติดปัญหากับหน่วยงานหรือองค์กรเจ้าของกฎหมายที่ไม่ยินยอม และอ้างว่าใช้มานานไม่เคยมีปัญหา ทั้งที่ความจริงกฎหมายหรือระเบียบเหล่านี้อาจสร้างปัญหาและความลำบากให้กับประชาชนและภาคเอกชนในด้านการค้าการลงทุน เรื่องนี้จึงเป็นสิ่งที่ต้องมีการปฏิรูป
นายวิษณุ กล่าวว่า การเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมของคนจนนั้นจะต้องปรับปรุง เพื่อลดขั้นตอนเยอะ ยุ่งยาก ที่ทำให้ประชาชนไม่สะดวกหรือรู้สึกไม่ได้รับความเป็นธรรม ซึ่งรัฐธรรมนูญปัจจุบันได้ระบุให้ประชาชนต้องเข้าถึงกระบวนการยุติ มีความรวดเร็ว เพื่อลดปัญหาความเหลื่อมล้ำ คงไม่ต้องไปกล่าวอ้างคำพูดของ “มงแต็สกีเยอ” เพราะกระบวนการยุติธรรมที่ล่าช้าก็คือการปฏิเสธกระบวนการยุติธรรม
รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า หลังจากนี้ขั้นตอนของกระบวนการจะต้องมีการประเมินเวลาในการดำเนินงาน เช่น เมื่อมีการแจ้งความที่โรงพัก การดำเนินคดีนี้ใช้ระยะเวลาทั้งหมดกี่วัน และขั้นตอนต่อไปใช้ระยะเวลาเท่าใด และจากสถิติการพิจารณาคดีของศาล ในปี 2559 พบว่ามีคดีในศาลอาญา 175,000 คดี ศาลชั้นต้นตัดสินได้ 140,000 คดี ส่วนศาลอุทธรณ์มีคดีกว่า 50,000 คดี ตัดสินได้ 40,000 คดี ขณะที่คดีชั้นศาลฎีกามีประมาณ 19,300 คดี ตัดสินได้ 11,000 คดี ซึ่งจากสถิติจะเห็นว่ามีคดีคงค้างมากจึงต้องปฏิรูปเรื่องนี้ให้ได้ เรื่องต่อไปการฎีกาคดีจะต้องพิจารณาอย่างเข้มข้นมากขึ้น
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในช่วงท้ายรองนายกรัฐมนตรี ยังได้ยกตัวอย่างเปรียบหนังสือ เวนิสวานิช ซึ่งเป็นเรื่องของการทำธุรกิจของกลุ่มพ่อค้าที่จะต้องมีการทำสัญญาจนเป็นคดีในที่สุด โดยเปรียบเทียบให้เห็นว่าเมื่อสิ้นสุดคดีแล้ว ไม่มีใครที่จะพอใจผลคดีร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่จะต้องให้เกิดความพึงพอใจมากที่สุด ภายใต้ความเชื่อมั่นและความพึงพอใจ ดั่งคำพูดที่ว่าในกระแสแห่งยุติธรรมมา แต่ก็ยากจะหาความเกษมเปรมใจ จึงสรุปได้ว่าเมื่อคดีใด ๆ สิ้นสุดแล้วก็ขอให้จบในกระบวนการชั้นศาล อย่าได้มาทวิตเตอร์กันอีกเลย .-สำนักข่าวไทย