กรุงเทพฯ 29 ส.ค. – เปิดฉาก Thailand Focus 2017 ย้ำความเชื่อมั่นให้ผู้จัดการกองทุนทั่วโลก ชูอีอีซี เป็นจุดแข็งเศรษฐกิจไทย คาดยักษ์ใหญ่ 30 บริษัทต่างชาติ ลงทุนต้นปี 61
นางเกศรา มัญชุศรี กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เป็นประธานเปิดงาน Thailand Focus 2017: Establishing the New Engine ซึ่งถือเป็นงานประชุมสัมมนาหลักด้านการลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ของประเทศไทย โดยมีผู้ลงทุนสถาบันทั่วโลกเข้าร่วมงาน 120 บริษัท มูลค่าสินทรัพย์รวม 2.6 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ และได้พบหารือกับบริษัทจดทะเบียน ถึง 142 บริษัท โดยในปีนี้ผู้จัดการกองทุนให้ความสนใจสอบถามถึงความคืบหน้าโครงการต่างๆของรัฐบาล มากกว่าปัจจัยทางการเมือง โดยเฉพาะการผลักดันนโยบายประเทศไทย 4.0 และการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC ) ซึ่งเชื่อว่า หลังการจัดงานครั้งนี้ นักลงทุนต่างชาติและผู้จัดการกองทุน จะให้ความสนใจ เข้ามาลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ไทยเพิ่มขึ้น โดยระดับราคาต่อ กำไรสุทธิ หรือ พีอี เรโช ของตลาดหุ้นไทย อยู่ที่ประมาณ 16 เท่า ซึ่งใกล้เคียงกับตลาดหุ้นมาเลเซีย เวียดนาม
อย่างไรก็ตามตลาดหุ้นไทยแม้จะดูชะลอตัวจากปีที่ผ่านมา แต่มูลค่าการซื้อขายของนักลงทุนต่างชาติ และ สถาบันในประเทศ มากกว่าปีที่ผ่านมาเล็กน้อย นักลงทุนในประเทศ เป็นกลุ่มที่ชะลอการลงทุน ซึ่งโดยภาพรวม ดัชนีหุ้นไทยปรับตัวขึ้นมาประมาณร้อยละ7-8 ตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา
ทั้งนี้ตลาดหลักทรัพย์เตรียมจัดแผนโรดโชว์ในประเทศสิงคโปร์ และออสเตรเลีย ใน1-2 เดือนข้างหน้า เพื่อดึงดูดนักลงทุนมายังประเทศไทยให้มากขึ้น
ด้าน นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก เปิดเผยบนเวที ถึงจุดแข็งของของโครงการระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก หรืออีอีซี ว่า ในปี 2561 จะเห็นการลงทุนของต่างชาติรายใหญ่ 30 ราย เข้ามา ขอรับการส่งเสริมการลงทุนจากบีโอไอ เพราะให้ความสนใจลงทุนในอีอีซี โดยคาดว่าจะมีเม็ดเงินลงทุนมูลค่าเงินกว่า 1.5 ล้านล้านบาท หรือกว่า 43,000 ล้านดอลลาร์ ในระยะเวลา 5 ปี โดยขณะนี้คณะกรรมการที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ได้อนุมัติการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ มูลค่า 17,000 ล้านดอลลาร์ โดยเฉพาะรถไฟความเร็วสูง ที่เชื่อมโยง 3 สนามบินขนาดใหญ่ของไทยคือ ดอนเมือง สุวรรณภูมิ และอู่ตะเภา ซึ่งจะกลายเป็นฮับการบินภาคตะวันออก ใน 5 ปี พร้อมด้วยการลงทุนทางถนนเพื่อเชื่อมโยง 3 ท่าเรือขนาดใหญ่ของไทย ทั้งแหลมฉบัง มาบตาพุด และ สัตหีบ รวมทั้งรถไฟรถไฟรางคู่ที่จะเชื่อมท่าเรือทั้ง 2 แห่ง เพื่อลดการจนส่งทางถนน ซึ่งมีปลายปีนี้จะเห็นร่างทีโออาร์
ขณะที่ความคืบหน้าโครงการอีอีซี ในรอบ 5 เดือน มานี้การลงทุนใน 10 กลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายมีความคืบหน้าอย่างมาก เช่น ในภาคอุตสาหกรรมการบินที่ แอร์บัส และการบินไทย ได้ร่วมกันลงทุนสร้างศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยานวงเงินกว่า 14,200 ล้านบาท ไปแล้ว และยังมี Boeing SAAP และ Air Asia ที่แสดงความสนใจ / อุตสาหกรรมยานยนต์ มีโตโยต้าที่ประกาศแล้วว่า จะลงทุนโรงงานผลิตรถยนต์ไฮบริด และยังมีนิสสันที่มีความสนใจเข้ามาลงทุนสร้างโรงงานผลิตรถยนต์ EV รวมถึงซูซูกิ และ BMW / อุตสาหกรรมหุ่นยนต์อัตโนมัติ ที่คาดว่าจะมียอดขอรับส่งเสริมลงทุนจาก BOI กว่า 12,000 ล้านบาทในสิ้นปีนี้ รวมถึงอุตสาหกรรมอีคอมเมิร์ส ที่ลาซาด้า และอาลีบาบา เตรียมที่จะเข้ามาพัฒนาอีคอมเมิร์สพาร์คในพื้นที่ อีอีซี อีกด้วย
ส่วนการพัฒนาด้านการท่องเที่ยว ในกลางเดือนกันยายน มีแผนการจัดทำ 3 เมือง ท่องเที่ยวประกอบด้วย ฉะเชิงเทรา พัทยา และระยองจะแล้วเสร็จ โดยให้จังหวัดฉะเชิงเทราเน้นการท่องเที่ยวทางธรรมชาติ ส่วนเมืองพัทยาเน้นการท่องเที่ยวแสงสี และระยองเน้นการท่องเที่ยวแบบสนุกสนาน โดยให้ กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาเป็นผู้ดูแล ซึ่ง เพื่อพัฒนาการท่องเที่ยวสำเร็จแล้วก็จะการพัฒนาชุมชนเมือง ต่อไปเพื่อเชื่อมโยงการเดินทางยังสนามบินอู่ตะเภา
ส่วนความคืบหน้าของกฎหมายอีอีซี คาดว่าจะเข้าสู่การพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติในต้นเดือนหน้า และในปลายปีนี้จะเริ่มเห็นเป็นรูปเป็นร่างทำให้สำนักงานอีอีซี อยู่ภายใต้กฎหมายดังกล่าว โดยไม่ต้องใช้มาตรา 44 แล้ว
ด้านนายปรเมธี วิมลศิริ เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือสศช. ตอกย้ำความเชื่อมั่นต่อนักลงทุน ถึงการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย จากตัวเลขเศรษฐกิจจริง ของจีดีพีในไตรมาส 2 ที่ขยายตัว ร้อยละ3.7 สูงที่สุดรอบ 17 ไตรมาส และผลักดันให้เศรษฐกิจไทยในครึ่งปีแรกขยายตัว ร้อยละ 3.5พร้อมคาดว่าในปี 2560 นี้ เศรษฐกิจไทยจะขยายตัวได้ ร้อยละ 3.5 – 4 .- สำนักข่าวไทย