สมุทรปราการ 26 ส.ค. – ประชาชนรอบพื้นที่โรงไฟฟ้าพระนครใต้เกือบ 1,000 คน ร่วมเวทีรับฟังและเสนอความคิดเห็นโครงการทดแทนโรงไฟฟ้าพระนครใต้ ระยะ 2 โดยข้อคิดเห็นทั้งหมดจะนำไปกำหนดขอบเขตและแนวทางการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพในรายงาน EHIA ให้ครอบคลุมข้อห่วงกังวลของผู้มีส่วนได้เสียทุกกลุ่ม
นายศิริวัฒน์ ธนะผลเลิศ พลังงานจังหวัดสมุทรปราการ เป็นประธานเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นของประชาชนและผู้มีส่วนได้เสีย (ค.1) โครงการทดแทนโรงไฟฟ้าพระนครใต้ ระยะ 2 ดำเนินการโดยบริษัท ซีคอท จำกัด โดยมีการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) นายกเทศมนตรีเมืองปู่เจ้าสมิงพราย หน่วยงานราชการ ผู้นำชุมชนและประชาชนในพื้นที่รัศมี 5 กิโลเมตร โดยรอบพื้นที่โครงการครอบคลุม 2 จังหวัด 3 อำเภอ 1 เขต ได้แก่ อำเภอเมืองสมุทรปราการ อำเภอพระประแดง อำเภอพระสมุทรเจดีย์ จังหวัดสมุทรปราการ และเขตทุ่งครุ กรุงเทพมหานครฯ และบริเวณใกล้เคียงโรงไฟฟ้าพระนครใต้ สื่อมวลชน ตลอดจนผู้ที่สนใจเข้าร่วมรับฟัง 955 คน ตั้งแต่เวลา 08.30-12.00 น. ณ อาคารเอนกประสงค์ 2 เทศบาลเมืองปู่เจ้าสมิงพราย อำเภอพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ
นายขรรชัย เกรียงไกรอุดม ผู้เชี่ยวชาญด้านสิ่งแวดล้อม บริษัท ซีคอท จำกัด กล่าวว่า การจัดรับฟังความคิดเห็นในครั้งนี้ เพื่อชี้แจงเหตุผล ความเป็นมาและรายละเอียดของโครงการทดแทนโรงไฟฟ้าพระนครใต้ ระยะ 2 รวมถึงนำเสนอร่างขอบเขตและแนวทางการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมของโครงการฯ พร้อมรับฟังข้อคิดเห็น ข้อเสนอแนะ และข้อห่วงกังวล ของประชาชนและผู้มีส่วนได้เสีย เพื่อนำไปจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม สำหรับโครงการที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรงทั้งทางด้านคุณภาพสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติและสุขภาพ (EHIA) โครงการทดแทนโรงไฟฟ้าพระนครใต้ ระยะ 2 ให้ครอบคลุมข้อห่วงกังวลของประชาชนในพื้นที่อย่างแท้จริง
สำหรับประชาชนที่ร่วมนำเสนอความคิดเห็นบนเวทีส่วนใหญ่มีข้อห่วงกังวลเกี่ยวกับผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม การเข้ามาของแรงงานนอกพื้นที่จำนวนมากจะส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของชุมชน ทั้งด้านการจัดการขยะ น้ำเสีย การจราจร และความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน นอกจากนี้ ยังเสนอแนะให้มีการบริหารจัดการการคมนาคมขนส่งและการจราจร ทั้งช่วงก่อนและระหว่างดำเนินการก่อสร้างให้ส่งผลกระทบต่อชุมชนน้อยที่สุด รวมทั้งอยากให้มีสวนสาธารณะและโรงพยาบาลเกิดขึ้น เพื่อส่งเสริมและบริการด้านสุขภาพให้กับประชาชนในพื้นที่
ด้านว่าที่ พ.ต.อนุชาต ปาลกะวงศ์ ณ อยุธยา ผู้ช่วยผู้ว่าการชุมชนสัมพันธ์และสิ่งแวดล้อมโครงการ กฟผ. กล่าวว่า กฟผ.ขอขอบคุณประชาชนรอบพื้นที่โรงไฟฟ้าพระนครใต้ ตลอดจนผู้สนใจทุกคนที่ให้ความสนใจเข้าร่วมรับฟัง ตลอดจนแสดงความคิดเห็นและข้อห่วงกังวลในเวทีรับฟังความคิดเห็น ค.1 ครั้งนี้ สำหรับข้อห่วงกังวลต่าง ๆ บริษัทที่ปรึกษาจะนำไปกำหนดขอบเขตการศึกษาและหาแนวทางในการจัดการผลกระทบร่วมกับ กฟผ.อย่างรอบด้านที่สุด โดยคำนึงถึงประชาชนและประเทศชาติเป็นหลัก ขอให้ทุกคนมั่นใจในนโยบายการพัฒนาพลังงานของ กฟผ.ที่เน้นความมั่นคงทางพลังงานไฟฟ้าในภาพรวมให้มีราคาเหมาะสมและสามารถแข่งขันได้ โดยคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมและชุมชนเป็นสำคัญ เพื่อให้โรงไฟฟ้าเป็นเพื่อนบ้านที่ดี เติบโตและอยู่ร่วมกันกับชุมชนอย่างช่วยเกื้อกูลและมีความสุข
สำหรับโครงการทดแทนโรงไฟฟ้าพระนครใต้ ระยะ 2 กำลังการผลิตติดตั้ง 1,470 เมกะวัตต์ จะก่อสร้างบริเวณพื้นที่ของโรงไฟฟ้าพระนครใต้ในปัจจุบัน เพื่อทดแทนโรงไฟฟ้าพระนครใต้ ชุดที่ 1 และ 2 ที่จะปลดออกจากระบบภายในปี 2563 และ2565 ตามลำดับ โดยโครงการนี้ใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิงหลัก และน้ำมันดีเซลเป็นเชื้อเพลิงรอง ทั้งนี้ โรงไฟฟ้าใหม่จะเป็นโรงไฟฟ้าที่ใช้เทคโนโลยีทันสมัยและมีประสิทธิภาพสูง เสริมความมั่นคงของระบบไฟฟ้าในเขตนครหลวงตอนล่าง.-สำนักข่าวไทย