กทม. 23 ส.ค. – ก่อนถึงวันนัดฟังคำพิพากษาในคดีทุจริตโครงการรับจำนำข้าว และคดีระบายข้าวจีทูจี วันที่ 25 สิงหาคมนี้ ลองไปย้อนดูนโยบายรัฐบาลแต่ละยุคเกี่ยวกับเรื่องข้าวและชาวนาในรอบกว่า 15 ปีที่ผ่านมา ว่าสามารถช่วยแก้ปัญหาราคาข้าวให้กับชาวนาได้หรือไม่
พื้นที่นา อ.บางปลาม้า จ.สุพรรณบุรี ที่เคยมีเกือบ 200,000 ไร่ ตอนนี้เหลืออยู่เพียง 170,000 ไร่ และเป็นที่นาเช่าถึงร้อยละ70 ชาวนาไม่น้อยเปลี่ยนสถานะจากเจ้าของที่นามาเป็นผู้เช่า เพราะแบกรับต้นทุนการผลิตและหนี้สินไม่ไหวจนต้องขายที่นาให้นายทุน
ย้อนไปเมื่อปี 44-49 ยุครัฐบาลทักษิณ ข้าวถูกใช้เป็นนโยบายขยายฐานเสียง ปรับราคาสูงกว่าตลาดเป็นครั้งแรก ตันละ 15,000 บาท ข้าวหอมมะลิ 20,000 บาท ชาวนาไถ่คืนเพียงร้อยละ 10 ข้าวกว่า 3 ล้านตัน มูลค่ากว่า 29 ล้านบาท หลุดจำนำตกเป็นของรัฐ
ปี 50-51 รัฐบาลนายสมัคร ชาวนาเรียกร้องปรับราคารับจำนำข้าวให้สอดคล้องกับตลาดโลก 15,000 บาทต่อตัน รัฐจึงปรับราคาให้เป็นตันละ 14,000 บาท
มาถึงปี 52 รัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เปลี่ยนจากรับจำนำข้าวเป็นโครงการรับประกันราคาข้าว ตันละ 12,000 บาท ข้าวหอมมะลิไม่เกิน 15,000 บาท
รัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ปี 54-57 นำโครงการรับจำนำข้าวกลับมาอีกครั้ง ราคาข้าวเท่ายุครัฐบาลทักษิณ โดยรับจำนำทุกเมล็ด มีการจำนำข้าว 36.5 ล้านตัน แต่ไถ่คืนเพียงเล็กน้อย จึงมีข้าวค้างสตอกถึง 34.5 ล้านตัน
รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ตั้งแต่ปี 57 ถึงปัจจุบัน เปลี่ยนนโยบายเป็นโครงการจำนำยุ้งฉาง ตันละ 13,000 บาท และส่งเสริมให้ทำนาแปลงใหญ่ ลดต้นทุน เพิ่มผลผลิต
ผู้เชี่ยวชาญเรื่องข้าวและชาวนายังเสนอให้รัฐบาลมีความจริงใจ กำหนดนโยบายที่ต่อเนื่องและสอดคล้องกับการแก้ปัญหาอย่างแท้จริง มิใช่มองเรื่องข้าวและชาวนาเป็นเพียงสินค้าทางการเมือง เพื่อใช้ขยายฐานเสียง. – สำนักข่าวไทย