กรุงเทพฯ 7 ส.ค.-น้ำท่วมภาคอีสานและเหนือ ฉุดความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนกรกฎาคมต่ำสุดในรอบ 7 เดือน โดยคนยังระมัดระวังการจับจ่ายใช้สอยต่อเนื่อง
นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนกรกฎาคม 2560 อยู่ที่ ระดับ 73.9 ลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่3 และอยู่ในระดับต่ำสุดในรอบ 7เดือน เนื่องจากผู้บริโภคกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์น้ำท่วม ที่เกิดขึ้นในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคเหนือประกอบกับราคาพืชผลทางการเกษตรยังอยู่ในระดับต่ำ และปรับลดลงในช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมา เช่น ข้าว ยางพารา มันสำปะหลังข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ปาล์มน้ำมัน และสับปะรดโรงงาน ส่งผลต่อกำลังซื้อในต่างจังหวัดลดลง และทำให้ผู้บริโภคกังวลว่าแนวโน้มเศรษฐกิจไทยอาจจะยังไม่ฟื้นตัวดีขึ้นมากอย่างที่คาดการณ์ไว้ นอกจากนี้กังวลถึงปัญหาค่าครองชีพและ ราคาสินค้าที่ยังอยู่ในระดับสูง จากราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศปรับตัวเพิ่มขึ้นมา ซึ่งไม่สอดคล้องกับรายได้ในปัจจุบัน และส่งผลต่อดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในอนาคตให้ปรับตัวลดลงด้วยเช่นกัน โดยในเดือนกรกฎาคมลงมาอยู่ที่ระดับ 83.1
นอกจากนี้ ผู้บริโภคเองมีความกังวลเกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาแรงงาน จาก การออก พ.ร.ก. บริหารแรงงานต่างด้าวของรัฐบาลที่ยังจัดการไม่เสร็จสิ้นอาจส่งผลต่อตลาดแรงงานได้ ดังนั้น รัฐบาลควรเร่งกระตุ้นการใช้จ่ายของภาครัฐ และเร่งรัดการลงทุนให้เกิดขึ้นเป็นรูปธรรมโดยเร็ว ตลอดจนกระตุ้นเศรษฐกิจฐานราก เพื่อเพิ่มกำลังซื้อให้กับประชาชน ซึ่งจะช่วยให้ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคและการใช้จ่ายนั้นปรับตัวดีขึ้น และทางศูนย์มองว่าการเติบโตเศรษฐกิจปีนี้ จะโตอยู่ที่ร้อยละ 3.6 และส่งออกยังเป็นบวกอยู่ โดยในเดือนหน้าจะแถลงปรับประมาณการณ์เศรษฐกิจในแต่ละด้านกันใหม่
ส่วนผลกระน้ำท่วมในพื้นที่ 10 จังหวัดภาคอีสานนั้น ทางศูนย์ประเมินผลกระทบต่อจีดีพีรัอยละ 0.03-0.05 หรือคิดเป็นมูลค่ากว่า 9,574 ล้านบาท โดยแยกเป็นภาคเกษตร 4,774 ล้านบาท ภาคธุรกิจและอุตสาหกรรม 3,434 ล้านบาท และถนนหนทาง วัด ยานพาหนะอีก 1,366 ล้านบาทเป็นต้น
ทั้งนี้ ทางศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจมหาวิทยาลัยหอการค้าไทยยังได้ถึงสำรวจทัศนคติและพฤติกรรมของประชาชนเกี่ยวกับวันแม่ ว่า จะมีเงินสะพัดในระบบเศรษฐกิจช่วงวันแม่กว่า 13,055 ล้านบาท หรือขยายตัวร้อยละ 2.7 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ในช่วงที่คนระมัดระวังการจับจ่ายใช้สอยกับภาวะในเศรษฐกิจที่ยังไม่ฟื้นตัวเต็มทีและ มองว่าน่าจะดีขึ้นปีหน้า โดยกลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ ร้อยละ 67.7 ใช้จ่ายงบประมาณเพิ่มขึ้นจากข้วงวันแม่ปีที่ผ่านมา เนื่องจากเป็นวันพิเศษและมีรายได้เพิ่มขึ้น ขณะเดียวกันคาดว่าเศรษฐกิจน่าจะมีแนวโน้มที่ดีขึ้น ส่วนอีกร้อยละ 19.7 ตอบว่าใช้จ่ายลดลง เนื่องจากต้องการประหยัด เพราะมีรายได้ลดลง และเศรษฐกิจยังไม่ดีจึงยังไม่อยากใช้เงิน ขณะที่อีกร้อยละ 12.6 ตอบว่าเท่ากับปีที่ผ่านมา
อย่างไรก็ตาม สิ่งที่จะทำในช่วงวันแม่ โดยร้อยละ 33.5 บอกว่าสวมกอดแม่และบอกรักแม่รักลูกมา ร้อยละ 27.8 มอบดอกไม้และกราบที่เท้าแม่ส่วนอีก ร้อยละ 27.6 จะแสดงความกตัญอยู่และ ร้อยละ 10.6 คือ จะทำตามสิ่งที่แม่เคยขอไว้ ส่วนกิจกรรมที่จะทำในช่วงวันแม่ส่วนใหญ่ร้อยละ 32 ตอบว่าพาแม่ไปทำบุญรองลงมา ร้อยละ 23.1 พาแม่ไปทานข้าวและ ร้อยละ 10.7 พาไปเที่ยวต่างจังหวัดแบบไม่ค้างคืน ส่วนของขวัญยอดนิยมที่จะมอบให้ในช่วงวันแม่ อันดับแรกคือให้เงินสดหรือทอง รองลงมา เป็นการให้พวงมาลัยหรือดอกไม้ และเครื่องดื่มบำรุงร่างกาย ตามลำดับ.-สำนักข่าวไทย