กรุงเทพฯ 5 ส.ค.-ศาลอาญา ชี้ชัดการเสียชีวิตของอดีตเจ้าหน้าที่ที่ดินพังงาถูกทำให้เสียชีวิต ขณะที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งหาตัวผู้ก่อเหตุ โดยการนัดฟังคำสั่งของอัยการที่ยื่น คำร้องขอไต่สวนการชันสูตรพลิกศพ นายธวัชชัย อนุกูล อดีตเจ้าหน้าที่ที่ดินพังงา ผู้ต้องหาคดีออกเอกสารสิทธิ์ทับซ้อน ที่เสียชีวิตในห้องควบคุมดีเอสไอเมื่อ 31 สิงหาคม 2559 ที่ผ่านมา
โดยอัยการได้ขอให้ศาลไต่สวนเพื่อชี้ว่า “ผู้ตายเป็นใคร เสียชีวิตด้วยสาเหตุใด และใครเป็นผู้กระทำ” ซึ่งเมื่อวานที่ผ่านมาศาลมีคำสั่งว่านายธวัชชัย เสียชีวิต เพราะถูกของแข็งกระแทกตับ เลือดออกในช่องท้อง รวมถึงขาดอากาศหายใจจากการผูกคอทำให้ตาย โดยยังไม่ทราบว่าบุคคลใดเป็นผู้กระทำ ระหว่างอยู่ในความควบคุมของเจ้าพนักงานซึ่งปฏิบัติตามหน้าที่ พร้อมสั่งให้ส่งสำนวนการไต่สวนให้อัยการดำเนินการต่อไป
ด้านนายชัยณรงค์ อนุกูล น้องชายนายธวัชชัย เปิดเผยว่าศาลได้มีคำสั่งแล้วว่าผู้ตายคือนายธวัชชัย ซึ่งเสียชีวิตเพราะมีบุคคลอื่นทำให้ตาย ดังนั้นจึงไม่ใช่การฆ่าตัวตาย โดยตนกำลังหารือกับทนายความที่จะติดตามการดำเนินการพนักงานสอบสวน สน.ทุ่งสองห้อง ต่อไปถึงการหาตัวผู้ที่ทำให้พี่ชายเสียชีวิต ซึ่งพนักงานสอบสวนได้ทำรายงานสรุปการเสียชีวิตไว้ และศาลก็รับฟังว่ามีบุคคลอื่นทำให้ตาย
ขณะที่พ.ต.อ.ไพสิฐ วงศ์เมือง อธิบดีดีเอสไอ ได้ออกแถลงการณ์ ระบุจะศึกษารายละเอียดในคำสั่งของศาล และพร้อมให้ความร่วมมือกับพนักงานสอบสวนท้องที่เกิดเหตุในการแสวงหาข้อเท็จจริง และพยานหลักฐานเพื่อทำความจริงให้ปรากฎต่อสังคม พ.ต.อ.มานะ เผาะช่วยผู้กำกับการ สน.ทุ่งสองห้อง กล่าวว่า หลังจากนี้พนักงานสอบสวนจะต้องรอคำพิพากษาพร้อมสำนวนเดิมซึ่งพนักงานอัยการ กอง 4 จะเป็นผู้นำกลับมามอบให้พนักงานสอบสวน เพื่อตั้งสำนวนการสอบสวนเป็นคดีอาญา โดยจะพิจารณาว่าถูกทำให้ตายด้วยสาเหตุใด ซึ่งความเป็นไปได้มีทั้งถูกทำให้ตายโดยเจตนา หรือการฆาตกรรม ถูกทำให้ตายโดยไม่เจตนาหรือประมาท หรือเป็นความบกพร่องของผู้ใด ซึ่งกรณีนี้ชัดเจนว่าถูกทำให้ตายระหว่างถูกควบคุมของเจ้าหน้าที่ดีเอสไอ จึงต้องว่าไปตามพยานหลักฐาน ยืนยันพนักงานสอบสวนไม่หนักใจ
อย่างไรก็ตามญาติของผู้ตายสามารถมาร้องทุกข์ ที่สน.ทุ่งสองห้องให้ดำเนินคดีกับผู้เกี่ยวข้อง หรือมอบอำนาจให้ทนายความยื่นฟ้องต่อศาลโดยตรง จากนั้นพนักงานสอบสวนจะพิจารณาว่าญาติของผู้ตายร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีกับผู้ใด หากเป็นเจ้าพนักงานกระทำความผิดขณะปฏิบัติหน้าที่ สำนวนการสอบสวนก็จะอยู่ในอำนาจของพนักงาน ป.ป.ช. หรือ ป.ป.ท. ขึ้นอยู่กับว่าเจ้าพนักงานนั้นดำรงตำแหน่งในระดับใด แต่หากญาติไม่มาร้องทุกข์พนักงานสอบสวน ก็จะพิจารณาดำเนินการไปตามขั้นตอนของกฎหมาย ซึ่งคดีนี้ถือเป็นคดีอาญาไม่สามารถยอมความได้ เบื้องต้นอาจใช้พยานหลักฐานเดิมในสำนวนการชันสูตรศพซึ่ง ก็คือความเห็นแพทย์ที่ระบุว่าผู้ตายเสียชีวิตจากภาวะตับแตกร่วมกับการขาดอากาศหายใจ ประกอบหลักฐานในสำนวนคดีอาญาที่ต้องสอบผู้เกี่ยวข้องเพิ่มเติม.-สำนักข่าวไทย