กรมสุขภาพจิต 2 ส.ค. –กรมสุขภาพจิต เผยภาพรวมผู้ประสบภัยน้ำท่วมที่สกลนครเครียดรุนแรง เพียงร้อยละ2-4 ส่วนใหญ่ปรับตัวได้ คาดช่วงน้ำลดผู้มีปัญหาสุขภาพจิตจะเพิ่มขึ้น เตรียมพร้อมแผนรับมือ
น.ต.นพ.บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต ให้สัมภาษณ์หลังเดินทางไปตรวจเยี่ยมให้กำลังใจผู้ประสบภัยน้ำท่วมจากพายุเซินกา ที่ศูนย์พักพิงโรงยิมศูนย์ราชการ อ.เมือง จ.สกลนคร ซึ่งมีประมาณ 50 คน และเยี่ยมให้กำลังใจทีมจิตแพทย์ที่ปฏิบัติงานดูแลสุขภาพกายและสุขภาพจิตร่วมในทีมแพทย์เคลื่อนที่ประจำศูนย์พักพิง ว่า จากการพูดคุยกับผู้สูงอายุและเด็กที่ศูนย์พักพิงที่โรงยิม พบว่ามีขวัญกำลังใจดีมาก ยิ้มแย้มแจ่มใสดี ผลการตรวจคัดกรองสุขภาพจิต พบส่วนใหญ่มีความเครียดในระดับไม่มากและเริ่มปรับตัวดีขึ้นเรื่อยๆมีเพียงส่วนน้อยที่มีอาการเครียดรุนแรง พบร้อยละ 2-4 ของผู้ประสบภัยทั้งหมด ขณะนี้อยู่ในความดูแลของเจ้าหน้าที่สาธารณสุขและอสม.แล้ว
อธิบดีกรมสุขภาพจิตกล่าวว่า จากการประเมินสถานการณ์คาดว่าช่วงที่น้ำลดนี้ ซึ่งเป็นระยะของการฟื้นฟู จำนวนผู้มีปัญหาสุขภาพจิตจะเพิ่มขึ้น เนื่องจากเห็นความเสียหายของทรัพย์สินปรากฎชัดเจนขึ้น รวมทั้งในพื้นที่ที่มีน้ำท่วมขังเป็นเวลานานจะทำให้เกิดปัญหาสุขภาพจิตเพิ่มขึ้นได้เช่นกัน จะต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ ซึ่งกรมเตรียมแผนรับมือฟื้นฟูสภาพจิตใจให้กลับคืนสู่สภาพปกติ โดยส่งทีมแพทย์พยาบาลออกเยี่ยมบ้าน ตรวจคัดกรองสุขภาพจิตทั้งผู้ประสบภัยทั่วไปและกลุ่มเสี่ยงที่มีความเปราะบางทางจิตใจได้แก่ ผู้สูงอายุที่ไม่มีคนดูแล เด็ก ผู้ป่วยโรคเรื้อรังประจำตัว ผู้พิการ ผู้ป่วยจิตเวช ผู้สูญเสียคนรัก ทรัพย์สิน และให้เฝ้าระวัง 4 อาการ ได้แก่ 1. อาการของโรคเครียดรุนแรงหรือโรคพีทีเอสดี 2. ความเครียดและวิตกกังวล 3.ภาวะซึมเศร้า และ 4 ภาวะติดเหล้าและสารเสพติด หากพบต้องรีบดูแลรักษาโดยเร็ว เพื่อป้องกันไม่ให้อาการลุกลามจนกลายเป็นผู้ป่วยจิตเวช และที่รุนแรงที่เน้นหนักสุดคือการฆ่าตัวตาย ซึ่งได้ดำเนินการลักษณะเดียวกันในพื้นที่น้ำท่วมทุกแห่ง ส่วนจ.สกลนครซึ่งได้รับผลกระทบหนัก กรมได้ส่งทีมจิตแพทย์จากรพ.จิตเวชเลยราชนครินทร์ ปฏิบัติงานที่อ.อากาศอำนวยเพิ่มอีก 1 ทีม .-สำนักข่าวไทย