กรุงเทพฯ 26 ก.ค. – รองนายกฯสมคิด สั่งการบ้านกระทรวงอุต ปั้นอุตสาหกรรมบริการ บีโอไอดูส่งเสริมเกษตรแปรรูป กำหดน 1 ปี ต้องชัดเจน
นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวในงาน Thailand industry EXPO 2017 ว่า เศรษฐกิจไทยขยายตัวต่อเนื่องจากไตรมาสแรกและไตรมาสสองของปีนี้ ทั้งปัจจัยการส่งออก การลงทุนภาครัฐ ความเชื่อมั่นของนักลงทุน จึงต้องอาศัยจังหวะนี้เร่งรัดการปฎิรูปในด้านต่างๆให้มีความคืบหน้า จากนโยบายไทยแลนด์ 4.0 ต้องการให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินเห็นผลชัดเจนภายใน 1 ปี เพื่อมุ่งหวังพัฒนาด้านต่างๆ ประกอบด้วย 1. ส่งเสริมการส่งออกด้านสินค้าเกษตร สินค้าเกษตรแปรรูป เนื่องจากไทยมีศักยภาพภาคเกษตร มีสัดส่วนการส่งออกเพียงร้อยละ 9 ทั้งการส่งออกข้าวมูลค่า 14,000 ส่งออกยางพารา 14,000 ล้านบาท น้ำตาล 9,000 ล้านบาท จึงต้องการให้กระทรวงอุสาหกรรมส่งเสริมเกษตรแปรรูป เพื่อรองรับสินค้าเกษตร และผลไม้ไทยมีอยู่เป็นจำนวนมาก และสั่งการให้บีโอไอ หามาตรการส่งเสริมการลทุนด้านเกษตรแปรรูป เพื่อเป็นช่องทางรับสินค้าเกษตรมาแปรรูปและส่งออก
2.มอบหมายให้กระทรวงอุตสาหกรรม ดูแลอุตสาหกรรมบริการ เนื่องจากการท่องเที่ยวของไทยมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาในประเทศ 30 ล้านคนต่อปี ส่งผลต่ออุตสาหกรรมต่อเนื่องเติบโตตามไปด้วย แต่รัฐบาลต้องการให้กระจายการท่องเที่ยงไปยังชุมชน เพื่อกระจายรายได้ให้เศรษฐกิจชุมชน ผ่านการสร้างคลัสเตอร์เอสเอ็มอีด้านการบริการ ผ่านความร่วมมือจากสถาบันการเงิน มหาวิทยาลัย หน่วยงานภาครัฐ เพื่อร่วมสร้าง ผู้ประกอบการสตาร์ทอัพ ผ่านกองทุนส่งเสริมผู้ประกอบการสตาร์ทอัพเกิดได้ยากมาก ต้องการให้เกิดขึ้นช่วง 1 ปีข้างหน้า มุ่งเน้นการสอน การวิจัยให้เกิดขึ้น
3. การก้าวสู่ยุคดิจิตอล เชื่อมโยงข้อมูลเครือข่าย ทั้งเอกชนรายใหญ่ เอสเอ็มอี กระทรวงอุตสาหกรรมกำลังดึงประเทศพัฒนาแล้วมาช่วยสนับสนุน ทั้งเมติ ญี่ปุ่น มาร่วมเปลี่ยนผ่านเอสเอ็มอี ของไทย รวมทั้งไต้หวัน เกาหลีใต้ เพราะมีเอสเอ็มอีที่เข้มแข็ง มีการจัดแบ่งพื้นที่สำหรับเอสเอ็มอีโดยเฉพาะ ทั้งเครื่องมือจากต่างประเทศเอกชนรายใหญ่ กระจายไปทุกศูนย์กลางของเอกชน เพื่อให้เอสเอ็มอีของไทยเข้ามาทดสอบด้านเทคโนโลยี
นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ยุทธศาสตร์อุตสาหกรรม 20 ปี เพื่อพัฒนาสู่การเป็นอุตสาหกรรม 4.0 ครอบคลุมการพัฒนาและยกระดับอุตสาหกรรมด้วยการสนับสนุนการนำวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการผลิตมาผนวกกับ เทคโนโลยีสารสนเทศ โดยปฏิรูปอุตสาหกรรมทั้งระบบ พร้อมเพิ่มขีดความสามารถของภาคการผลิต ทั้งในด้านคุณภาพและมาตรฐาน การเพิ่มผลิตภาพ และการสร้างมูลค่าเพิ่มด้วยนวัตกรรม ควบคู่ไปกับการขยายโอกาสทางการตลาดไปสู่ระดับโลก และเดินหน้าสู่การตลาดแบบไร้พรมแดน ซึ่งจะช่วยให้เกิดการขับเคลื่อนเศรษฐกิจใหม่ ของประเทศไทยให้เติบโตได้ในระยะยาว
ทั้งนี้ กระทรวงอุตสาหกรรมได้วางกลยุทธ์การทำงานสำคัญไว้ 3 เรื่อง ได้แก่ 1) การยกระดับพัฒนาอุตสาหกรรมเป้าหมาย 10 อุตสาหกรรม เพื่อปรับเปลี่ยนโครงสร้างเศรษฐกิจและยกระดับความสามารถของเศรษฐกิจของประเทศไทย 2) การพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและย่อม หรือ SMEs ให้สามารถพัฒนาตนเองสู่การเป็น SMEs ที่ใช้นวัตกรรมในการสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์และบริการ พร้อมเชื่อมโยงกับอุตสาหกรรมเป้าหมายในลักษณะกลุ่มหรือ Cluster ที่มีบริษัทใหญ่เป็นคู่ค้าสำคัญ 3) การพัฒนาระเบียงเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC เพื่อรองรับการกระตุ้นการลงทุนขนาดใหญ่รอบใหม่ของประเทศ ซึ่งถือเป็นเรื่องจำเป็นต่อการขับเคลื่อนและดำเนินยุทธศาสตร์อุตสาหกรรม 4.0 ที่จะสนับสนุนนโยบาย Thailand 4.0 ให้ชัดเจนยิ่งขึ้น – สำนักข่าวไทย