กทม. 25 ก.ค. – วันนี้เป็นการประชุมนัดสุดท้ายของสมาชิกสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) โดยจะสิ้นสุดวาระดำรงตำแหน่งวันที่ 3 สิงหาคม ตามที่รัฐธรรมนูญบัญญัติไว้ ก่อนส่งมอบงานให้นายกรัฐมนตรีในช่วงปลายเดือนสิงหาคม ตลอดช่วงเกือบ 2 ปีที่ผ่านมา มีภาระงานฝากไว้ให้คณะกรรมการปฏิรูปประเทศชุดใหม่มารับไม้ต่อหลายประเด็น ติดตามจากรายงานของทีมข่าวการเมือง
ตลอด 1 ปี 9 เดือน ในการเดินเครื่องปฏิรูปประเทศของสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ คลอดแผน -ข้อเสนอ และกฎหมาย 190 เรื่อง ส่งให้รัฐบาลสานต่อ ที่โดดเด่นคือ ข้อเสนอให้กรรมการร่างรัฐธรรมนูญบัญญัติเรื่องปฏิรูปประเทศไว้ในรัฐธรรมนูญ ข้อเสนอปฏิรูปการเมืองที่นำไปใช้ในการจัดทำกฎหมายลูก ปฏิรูปวงการสีกากี ให้การแต่งตั้งโยกย้ายเป็นธรรมไม่ถูกครอบงำจากฝ่ายการเมืองและประชาชนได้รับความยุติธรรม เสนอแก้ไข พ.ร.บ.ลักษณะการปกครองท้องที่ ลดวาระกำนันผู้ใหญ่บ้าน จากเกษียณอายุ 60 ปี เป็นดำรงตำแหน่ง 5 ปี และให้มาจากการเลือกตั้งของประชาชน เสนอให้มีองค์กรสภาวิชาชีพสื่อ ทำหน้าที่ออกใบรับรองวิชาชีพให้สื่อมวลชน รวมทั้งข้อเสนอสแกนลายนิ้วมือและใบหน้าก่อนซื้อซิมโทรศัพท์มือถือเพื่อปฏิรูปสื่อออนไลน์ รวมทั้งให้กรมสรรพากรเร่งเก็บภาษีผู้ให้บริการออนไลน์ในต่างประเทศ เสนอให้ตัดงบดูงานต่างประเทศของ ส.ส.-ส.ว. และยกเลิกการแจกแท็บเล็ตให้สมาชิกรัฐสภา รวมถึงปฏิรูปหลักสูตร สร้างคอนเนคชั่นของสถาบันพระปกเกล้า
ผลงานชิ้นโบแดงที่ สปท.ภูมิใจ คือ การตั้งศาลอาญาคดีทุจริต เป็นครั้งแรกของประเทศ และพิพากษาคดีแรกคือ คดีอดีตผู้ว่า ททท. รวมไปถึงการออกกฎหมายแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ และการปฏิรูปการจัดทำงบประมาณแบบ 3 มิติเป็นครั้งแรก แม้ข้อเสนอหลายเรื่องจะไม่สามารถดำเนินการให้เห็นผลได้ในทันที นำมาซึ่งเสียงวิจารณ์จับต้องไม่ได้ สปท.ก็ยอมรับว่าทำได้ครึ่งทาง แต่มั่นใจไม่เสียของ ไม่เสียเปล่า
หลังจากส่งมอบผลการศึกษาและข้อเสนอแนะให้นายกรัฐมนตรี 31 กรกฎาคมนี้ และ สปท. ครบวาระการดำรงตำแหน่ง 3 สิงหาคม คณะกรรมการปฏิรูปประเทศชุดใหม่จะเข้ามาสานต่อพิมพ์เขียว ปฏิรูปเพื่อก้าวสู่ระยะที่ 3 ประชาชนต้องร่วมด้วยช่วยกันเดินหน้าปฏิรูปให้เห็นเป็นรูปธรรม เพราะการปฏิรูปต้องอาศัยเวลา. – สำนักข่าวไทย