สธ. 25 ก.ค.-กรมสุขภาพจิต เตือนผู้ปกครอง ระวังอย่าให้เด็กกลุ่มพิเศษ 4 โรค ‘ออทิสติก–สมาธิสั้น–สติปัญญาบกพร่อง–ภาวะบกพร่องทางการเรียนรู้’ ลงเล่นน้ำ เสี่ยงจมน้ำได้สูงแม้ในน้ำตื้น เพราะอ่านหนังสือไม่ได้ ไม่รู้ถึงภัยอันตราย ร้องขอความช่วยเหลือไม่เป็น
น.ต.นพ.บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับมาตรการเตรียมความพร้อมรับมือพายุโซนร้อนเซินกา(SONCA) ที่จะส่งกระทบให้มีฝนตกหนักถึงหนักมากในพื้นที่ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคตะวันออก ระหว่างวันที่ 25-28 ก.ค.2560 ตามประกาศเตือนของกรมอุตุนิยมวิทยา ว่า กรมสุขภาพจิตได้วางแผนความพร้อมในการรับมือหากเกิดน้ำท่วมฉับพลัน
โดยสั่งการให้โรงพยาบาล(รพ.)จิตเวช สถาบันเฉพาะทางด้านจิตเวชและศูนย์สุขภาพจิตรวม 32 แห่งทั่วประเทศครอบคลุมทุกภาค เตรียมพร้อมทีมเยียวยาทางจิตใจในภาวะวิกฤติฉุกเฉิน หรือทีมเอ็มแคท(Mental Crisis Assessment and Treatment Team :MCATT) พร้อมเวชภัณฑ์ ยาด้านจิตเวช ออกปฏิบัติงานร่วมกับทีมเอ็มแคทเครือข่ายในจังหวัดและอำเภอและทีมแพทย์สนามหรือหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ประชาชนจะได้รับการดูแลช่วยเหลือทั้งโรคทางกายและด้านจิตใจไปพร้อมๆกัน
อย่างไรก็ตามเรื่องที่น่าเป็นห่วงในช่วงที่ฝนตกหนักและมีน้ำท่วมฉับพลันในพื้นที่ ขอให้ผู้ปกครองระมัดระวังเด็กเล็กอย่าให้ลงเล่นน้ำ โดยเฉพาะเด็กกลุ่มพิเศษที่เป็นโรคทางจิตเวช 4 โรคที่พบได้บ่อย ได้แก่ 1.โรคออทิสติก ( Autistic ) ซึ่งพบได้ 6 คนต่อประชากรทุกๆ1,000 คน 2.โรคสมาธิสั้นหรือโรคไฮเปอร์ (Attention Deficit Hyperactive Disorder )พบได้ร้อยละ 3.8 ของประชากร 3.เด็กสติปัญญาบกพร่อง(Mental Retard )ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีระดับไอคิวต่ำกว่า 70 จุด พบได้ร้อยละ 1 ของประชากร และ 4.เด็กที่มี ภาวะบกพร่องในการเรียนรู้(Learning Disorder ) พบได้ร้อยละ 5 ของประชากร ซึ่งทั้ง 4 กลุ่มคาดว่าทั่วประเทศมีประมาณ 8 แสนคนทั้งในเขตเมืองและชนบท เด็กกลุ่มนี้จะมีความเสี่ยงเกิดอันตรายจมน้ำได้สูง เนื่องจากเด็กจะมีปัญหาในการรับรู้ อ่านหนังสือไม่ออก จึงไม่เข้าใจถึงภาวะเสี่ยงหรือภาวะที่เป็นอันตราย ไม่กลัวภัยอันตราย
รวมทั้งเด็กบางประเภทเช่นเด็กที่เป็นโรคสมาธิสั้น จะชอบท้าทายโลดโผนอยู่แล้ว จึงมีความเสี่ยงเกิดอันตรายมาก หากเกิดอุบัติเหตุจมน้ำ ทั้ง 4 กลุ่มนี้จะไม่สามารถร้องขอความช่วยเหลือจากคนอื่นๆได้ หรือช่วยเหลือตัวเองไม่ได้แม้กระทั่งน้ำตื้นก็ตาม จึงขอให้ผู้ปกครองดูแลใกล้ชิดเป็นพิเศษ
สำหรับผู้ป่วยจิตเวชทั่วไปที่ได้รับการรักษาอยู่ขณะนี้ ส่วนใหญ่มักเป็นผู้ป่วยที่มีอาการเรื้อรัง จะต้องกินยารักษาต่อเนื่อง เพื่อควบคุมอาการให้สามารถใช้ชีวิตได้อย่างปกติ หากยาใกล้หมดหรือไม่สามารถเดินทางไปพบแพทย์ตามนัดได้ ขอให้แจ้งอสม. หรือเจ้าหน้าที่สาธารณสุขใกล้บ้าน หรือโทรแจ้งสายด่วน 1669 หรือสายด่วนสุขภาพจิต 1323 ตลอด 24 ชั่วโมง .-สำนักข่าวไทย