กรุงเทพฯ 21 ก.ค.-กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข ย้ำ ซึมเศร้า ไม่ใช่ความอ่อนแอ ทุกคนช่วยได้ รักษาหายได้
นาวาอากาศตรี นายแพทย์บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า การฆ่าตัวตายเป็นสาเหตุการเสียชีวิตทั่วโลก จำนวนกว่า 8 แสนคนต่อปี คาดว่าจะเพิ่มเป็น 1.5 ล้านคน ในปี 2563 โดยมีคนพยายามฆ่าตัวตายสูงกว่าคนที่ฆ่าตัวตายสำเร็จ 20 เท่าตัว สำหรับประเทศไทย คนไทยฆ่าตัวตายสำเร็จเฉลี่ย 1 คน ในทุกๆ 2 ชั่วโมง ผู้ชายมีอัตราการฆ่าตัวตายสูงกว่าผู้หญิง เกิดจากหลายสาเหตุประกอบกัน และ โรคซึมเศร้า ก็เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดการฆ่าตัวตาย ซึ่ง โรคซึมเศร้า เป็นภัยเงียบที่คุกคามสุขภาพของประชาชน ส่งผลกระทบต่อประชากรทั่วโลก โดยองค์การอนามัยโลกได้ประมาณการว่า ประชากรมากกว่า 300 ล้านคนเป็นโรคซึมเศร้า หากไม่ได้รับการบำบัดรักษาอย่างถูกต้องนานเป็นเดือน เรื้อรังเป็นปี จะกลับเป็นซ้ำได้บ่อย หากอาการซึมเศร้ารุนแรง อาจจบชีวิตด้วยการฆ่าตัวตายได้มากกว่าคนทั่วไปถึง 20 เท่า สำหรับประเทศไทย พบผู้ป่วยโรคนี้ 1.5 ล้านคน
อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวต่อว่า อุปสรรคสำคัญหนึ่งที่ทำให้ผู้ป่วยเข้าไม่ถึงบริการ คือ ประชาชนส่วนใหญ่ยังขาดความตระหนักและไม่เข้าใจถึงความสูญเสียที่เกิดจากการป่วยด้วยโรคซึมเศร้า ตลอดจนมีอคติต่อผู้ป่วย มองเป็นความขี้เกียจ อ่อนแอ ซึ่งในความเป็นจริงไม่เป็นเช่นนั้น ซึมเศร้า เป็นความเจ็บป่วย พวกเขาต้องการความช่วยเหลือ สาเหตุมาจากสารสื่อประสาทในสมองทำงานผิดปกติ ซึ่งเกิดได้หลายสาเหตุ เช่น การหลั่งฮอร์โมน การหลั่งสารสื่อประสาทผิดปกติ หรือ ปัจจัยภายนอก เช่น ความผิดหวัง ความสูญเสีย ความเครียด เมื่อปัจจัยเหล่านี้มารวมกัน ทำให้คนๆ นั้นเกิดภาวะซึมเศร้าได้ ความคิด ทัศนคติ การตัดสินใจ การมองโลก ทุกสิ่งทุกอย่างจึงเปลี่ยนแปลงไป โดยที่ไม่สามารถบังคับความคิดของตัวเองได้ เพราะสารสื่อประสาทในสมองผิดปกติ ต่อให้จิตใจเข้มแข็งสักเท่าไหร่ก็ตาม ดังนั้น คนที่จากไป ไม่ใช่ว่าเขาไม่เข้มแข็ง แต่เป็นเพราะเขาเจ็บป่วย และสามารถรักษาให้หายได้ สิ่งจำเป็นที่สุด คือ การดูแลด้วยความตั้งใจและอดทน จากเพื่อน ครอบครัว และคนใกล้ชิด ที่จะช่วยให้อาการซึมเศร้าหายเร็วขึ้น การพูดคุยกับคนที่เราไว้ใจจะเป็นก้าวแรกในการฟื้นคืนจากโรคซึมเศร้า
สัญญาณบอกเหตุของโรคซึมเศร้า มี 9 ข้อ ได้แก่ 1.ซึมเศร้า ท้อแท้ เบื่อไม่อยากทำอะไร 2.ขาดความสนใจสิ่งรอบข้าง 3. ไม่มีสมาธิ 4.อ่อนเพลีย 5.เชื่องช้า 6.รับประทานอาหารมากขึ้น หรือน้อยลง 7.นอนมากขึ้น หรือน้อยลง 8.ตำหนิตัวเอง และ 9.พยายามฆ่าตัวตาย หากพบว่าตัวเองหรือคนใกล้ตัวมีอาการ ข้อ 1 หรือ 2 ข้อใดข้อหนึ่ง ร่วมกับอาการในข้อ 3-9 อย่างน้อย 5 อาการ ติดต่อกันนาน 2 สัปดาห์ ให้สงสัยว่าอาจเป็นโรคซึมเศร้า หากพบเห็น อย่าประมาท ควรพูดคุยกับเขา หรืออาจแนะนำให้เขาไปพบจิตแพทย์ ซึ่งควรเปลี่ยนทัศนคติที่ว่า ที่ไปพบจิตแพทย์ คือ คนเป็นบ้า เพราะการมีอคติเช่นนี้ จะยิ่งทำให้ผู้ป่วยไม่กล้าไปพบแพทย์ ทำให้ไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกต้องและสุดท้ายจบชีวิตด้วยการฆ่าตัวตาย
นอกจากนี้ การแสดงความเห็นหรือวิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับการฆ่าตัวตายหรือโรคซึมเศร้า โดยไม่ได้คิดก่อนว่าจะกระทบกับผู้ใดหรือไม่นั้น อาจส่งผลกระทบกับผู้ที่มีปัญหาอยู่เดิม หรือ กลุ่มคนที่อ่อนไหว มีความเปราะบางทางจิตใจ ที่อาจคิดว่า อยู่ไปก็ไม่มีประโยชน์และตัดสินใจจบชีวิตในลักษณะเดียวกันได้ โรคซึมเศร้าจึงเป็นประเด็นทางสาธารณสุข ที่ต้องการความร่วมมือจากทุกภาคส่วน และมาตรการหนึ่งที่สำคัญที่ภาคประชาสังคมสามารถเข้ามามีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหานี้ได้ คือ ร่วมกันรณรงค์สร้างความตระหนักเพื่อลดอคติและตราบาป และเพิ่มการเข้าถึงการรักษาทางจิตเวช เสริมสร้างความรู้ความเข้าใจเรื่องภาวะซึมเศร้าและอาการของโรค และรู้วิธีพื้นฐานในการรับมือและให้ความช่วยเหลือ เป็นต้น ซึ่ง กรมสุขภาพจิต ได้รณรงค์สร้างความตระหนักต่อปัญหานี้มาอย่างต่อเนื่อง โดยระหว่างวันที่ 2-4 ส.ค. นี้ กรมสุขภาพจิตได้กำหนดจัดการประชุมวิชาการสุขภาพจิตนานาชาติ ประจำปี 2560 ขึ้น ภายใต้แนวคิด “Depression, Let’s talk : ซึมเศร้า…เราคุยกันได้” รวมทั้ง เตรียมจัดกิจกรรมเดิน- วิ่ง มินิมาราธอน ซึมเศร้า เราคุยกันได้ ในวันที่ 20 ส.ค. ตลอดจนงานสัปดาห์สุขภาพจิตแห่งชาติ ประจำปี 2560 ระหว่างวันที่ 1-7 พ.ย. ทั่วประเทศ อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าว .-สำนักข่าวไทย