สพฉ.19ก.ค.-สพฉ.พบป่วยฉุกเฉินจากอาการหัวใจหยุดเต้นจากการแข่งวิ่งแล้วหลายราย ล่าสุดชายอายุ 54 ปีหมดสติไม่หายใจ จากการวิ่งมาราธอน ที่สวนหลวง ร.9 แต่ได้รับการช่วยเหลือทันจากทีมแพทย์ที่ร่วมวิ่ง ด้านแพทย์แนะทุกคนเรียนรู้การทำ CPR ช่วยผู้ป่วยหัวใจหยุดเต้นรอดชีวิตได้
จากกรณีโลกออนไลน์แชร์คลิป พร้อมระบุข้อความ “นาทีชีวิต ทีมกู้ภัยและหมอล็อตช่วยกันทำ CPR” เพื่อช่วยเหลือชายคนหนึ่งซึ่งที่หมดสติและไม่หายใจ ในจุดเข้าเส้นชัย ขณะวิ่งมาราธอน โครงการเพื่อผู้พิทักษ์ปี 3 “ชีวิตของข้า เพื่อป่าของไทย”ระยะทาง 10 กิโลเมตร ภายในสวนหลวง ร.9โดยชายคนดังกล่าวที่หมดสตินั้นทราบชื่อต่อมาคือ นายสรรเสริญ อ่อนน้อม อายุ 54 ปี อาชีพรับจ้างทั่วไป ที่รอดชีวิตอย่างหวุดหวิด โดยขณะนี้นายสรรเสริญ อยู่ระหว่างพักฟื้นจากการสวนหัวใจเนื่องจากตรวจพบเส้นเลือดหัวใจตีบ และอาการดีขึ้นตามลำดับ
ร.อ.นพ.อัจฉริยะ แพงมา เลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) กล่าวแนะวิธีการออกกำลังกายสำหรับผู้ป่วยเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ ว่า ผู้ป่วยโรคหลอดเลือดหัวใจตีบจะมีสมรรถนะของร่างกายลดลง เพราะจะมีอัตราการเต้นของหัวใจสูงขึ้น และการบีบตัวให้เลือดออกจากหัวใจแต่ละครั้งได้ปริมาณน้อยลง ทำให้ปริมาณเลือดที่หัวใจส่งไปเลี้ยงอวัยวะต่างๆ ลดลง เป็นผลให้ปริมาณออกซิเจนสูงสุดที่ร่างกายนำไปใช้ลดลงด้วย
พร้อมชี้ว่าโดยพื้นฐาน ผู้ป่วยโรคหลอดเลือดหัวใจตีบจะออกกำลังกายได้คล้ายๆกับในคนปกติ เพียงแต่ควรจะเน้นไปที่การออกกำลังกายในระดับปานกลาง เช่น เต้นแอโรบิก เดินเร็ว ขี่จักรยาน วิ่งเหยาะๆ และว่ายน้ำ ส่วนกีฬาที่แนะนำ ได้แก่ ปิงปอง เทนนิสคู่ กอล์ฟ เป็นต้น
นอกจากนี้ก่อนออกกำลังกาย หรือเล่นกีฬาใด ๆ ผู้ป่วยทุกคนควรปรึกษาแพทย์ และควรออกกำลังแต่พอเหมาะช่วงที่เริ่มออกกำลังกายระยะแรก ควรซ้อมเบา ๆ ค่อยเป็นค่อยไปไม่รีบร้อน และหยุดพักเมื่อเริ่มเหนื่อย หรือแน่นหน้าอก หลังจากที่เริ่มเคยชินก็ค่อยๆ เพิ่มเวลาของการออกกำลังกาย จนสามารถทำได้อย่างต่อเนื่องนานอย่างน้อย 15 นาทีขึ้นไป และทำเป็นประจำทุกวัน ที่สำคัญต้องไม่ลืมเตรียมร่างกาย (warming up and down) ก่อนและหลังการออกกำลังกาย ซึ่งเป็นสิ่งที่สำคัญมาก และควรทำทุกครั้ง
“สำหรับบุคคลที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงมีภาวะอ้วน ไม่เคยออกกำลังหรือเจ็บป่วยด้วยโรคเรื้อรัง อาทิ ความดัน เบาหวาน โรคหัวใจ ต้องปรึกษาแพทย์ก่อนออกกำลังกายและก่อนทำการวิ่งก็จะต้องมีการ Warmup ร่างกายอย่างเพียงพอ ไม่ใช่มาถึงก็โหมวิ่งเลยทันที ที่สำคัญต้องฟังสัญญาณร่างกายตนเองเพราะหากรู้สึกไม่ไหวจะฟ้องเราออกมาทันที อาทิ หากระหว่างวิ่งมีอาการหน้ามืด เจ็บหน้าอก เหนื่อยง่ายให้หยุดวิ่งและรีบปรึกษาแพทย์ทันที”เลขาธิการฯ สพฉ.กล่าว
นายสัตวแพทย์ภัทรพล มณีอ่อน หรือหมอล็อต ที่เข้าให้การช่วยเหลือนายสรรเสริญที่หมดสติในงานวิ่งครั้งนี้ กล่าวว่า เหตุการณ์ในวันนั้น ตนเข้าไปร่วมการวิ่งมาราธอนด้วย ระหว่างวิ่ง มีเสียงประกาศตามสายว่า ใครเป็นหมอบ้าง ให้มาช่วยทำ CPR เนื่องจากมีคนล้มหมดสติบริเวณก่อนถึงเส้นชัยไม่กี่เมตร ด้วยความเป็นหมอที่เคยร่ำเรียนมา จึงเดินเข้าที่เกิดเหตุ และช่วยทำ CPR ให้ โดยทำการจับ ชีพจร ปั๊มหัวใจ และเตรียมที่จะผายปอดเพื่อทำการกระตุ้น ซึ่งระหว่างนี้รถพยาบาลฉุกเฉิน ก็มาถึงที่เกิดเหตุอย่างทันท่วงที และก็โชคดีที่ลุงคนนี้ก็รู้สึกตัวในที่สุด
“แต่เรื่องนี้ไม่อยากให้มองว่า เป็นเรื่องโชคดี ดวงหรือโชคชะตา แต่เกิดจากการเตรียมความพร้อม อย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งทีมงาน หน่วยกู้ภัย ทีมแพทย์ที่อยู่ในสนาม ซึ่งทุกคนมีการเตรียมตัว เตรียมพร้อมมาเป็นอย่างดี และเรื่องนี้ไม่อยากให้มองว่า เป็นฮีโร่ หรือมาเชิดชูอะไร แต่ทำตามหน้าที่ในความเป็นหมอ ตามหลักมนุษยธรรมที่ต้องการเชื่อเหลือเพื่อนมนุษย์”หมอล็อต กล่าวและว่าการเรียนรู้เรื่องการ CPR เป็นสิ่งที่ดีเพราะประชาชนทั่วไปก็สามารถฝึกในการทำ CPR ด้วยตนเองได้ เพราะหากเราสามารถทำการ CPR เป็นเราก็จะสามารถช่วยต่อชีวิตผู้ป่วยฉุกเฉินคนอื่นๆ ได้
นอกจากนี้กรณีการวิ่งมาราธอน หรือ การออกกำลังกายในกีฬาชนิดต่างๆ การเตรียมความพร้อมในส่วนของร่างกายถือเป็นสิ่งสำคัญ ทุกครั้งที่มีการออกกำลังกาย สำรวจตัวเองว่ามีโรคประจำตัวหรือไม่ มีการพักผ่อนที่เพียงพอหรือไม่ และเมื่อทำการออกกำลังกาย โดยเฉพาะการวิ่งมาราธอน ไม่ควรอายที่จะพกยาดม ยาหม่อง ซึ่งแม้เราจะไม่ใช้ ก็จะยังสามารถช่วยเหลือเพื่อนร่วมทางที่อยู่ข้างเคียงได้
“กรณีการวิ่งมาราธอน ถ้าเป็นไปได้ควรให้มีการยืดหยุ่นเรื่องเวลาเช่น ควรสตาร์ทสัก 7 -8 โมงเช้า เป็นต้น เพราะทุกวันนี้มีการเริ่มสตาร์ทกันที่ ตี 4 ตี 5 ถามว่า ผู้ที่เข้ามาวิ่งมีการพักผ่อนที่เพียงพอหรือไม่ เมื่อเริ่มวิ่งตี 5 พวกเขาต้องตื่นเตรียมตัวก่อนประมาณ ตี 2 ตี 3 ทำให้ผู้มาวิ่งพักผ่อนนอนไม่เพียงพอ ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญ ที่ทำให้ผู้เข้าแข่งขันเป็นลมล้มหมดสติ”หมอล็อต กล่าว .-สำนักข่าวไทย