กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ 19 ก.ค. – รมว.พม. มอบโล่ประกาศเกียรติคุณให้นางวีรวรรณ มอสบี้ ผู้ได้รับรางวัลนักต่อสู้การค้ามนุษย์จากสหรัฐอเมริกา พร้อมเสนอ 3 ประเด็นหลักแก้ปัญหาค้ามนุษย์ในไทย
พลตำรวจเอกอดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ มอบโล่ประกาศเกียรติคุณให้นางวีรวรรณ มอสบี้ ผู้อำนวยการโครงการฮัก (HUG) จังหวัดเชียงใหม่ หลังเป็น 1 ใน 8 ผู้ที่ได้รับรางวัลนักต่อสู้ด้านการค้ามนุษย์จากกระทรวงต่างประเทศสหรัฐอเมริกา ประจำปี 2560 (TIP Report Heroes 2017) พร้อมหารือร่วมกันในประเด็นเกี่ยวกับการป้องกันและแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ในประเทศไทย
พลตำรวจเอกอดุลย์ กล่าวภายหลังหารือว่า การพูดคุยกับนางวีรวรรณครั้งนี้เป็นการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ เพื่อนำข้อมูลมาปรับใช้ให้สอดคล้องกับสถานการณ์การค้ามนุษย์ในปัจจุบัน ทั้งระบบการคัดแยกผู้เสียหาย คุ้มครองเหยื่อที่ถูกละเมิดทางเพศ ตลอดจนการสร้างงานสร้างอาชีพ ถือเป็นอีกก้าวสำคัญที่จะป้องกันปราบปรามการค้ามนุษย์แบบรอบด้าน ที่ผ่านมารัฐบาลไทยมีความมุ่งมั่นที่จะแก้ปัญหาการค้ามนุษย์อย่างต่อเนื่อง ทั้งการปรับแก้กฎหมาย เพิ่มช่องทางในการยึดทรัพย์ของผู้กระทำความผิด ขณะนี้สามารถยึดทรัพย์ได้แล้วกว่า 700 ล้านบาท หลังจากนี้ต้องศึกษาข้อกฎหมายว่าทำอย่างไร ทรัพย์ที่ยึดมานั้นจะมีประโยชน์ต่อผู้ที่ตกเป็นเหยื่อโดยตรง
ด้านนางวีรวรรณ มอสบี้ กล่าวว่า ตนมีความยินดีที่จะแบ่งปันข้อมูล เพื่อเป็นประโยชน์ต่อประเทศไทย ที่ผ่านมาทางสหรัฐอเมริกามีการตั้งคำถามต่อกระบวนการยึดทรัพย์ของผู้กระทำความผิดว่า หลังจากยึดทรัพย์มาแล้ว เหยื่อได้รับประโยชน์อย่างไร พร้อมเสนอต่อรัฐมนตรี พม. ถึงการจัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการพิทักษ์เด็กและสตรีในพื้นที่กรุงเทพฯ เพื่อให้เป็นศูนย์กลางขนาดใหญ่ที่พร้อมให้การช่วยเหลือเด็กที่ถูกละเมิดทางเพศแบบเบ็ดเสร็จ มีทั้งเจ้าหน้าที่ตำรวจ นักวิชาการ นักจิตวิทยา ตลอดจนบุคลากรทางการแพทย์ ที่พร้อมให้การรักษาทั้งสภาพร่างกายและจิตใจ ซึ่งขณะนี้ในไทยมีศูนย์ดังกล่าวแล้ว 3 แห่ง คือ เชียงใหม่ ภูเก็ต และพัทยา อนาคตต้องการเปิดศูนย์ขยายไปที่จังหวัดนครราชสีมา, ขอนแก่น และกรุงเทพฯ เน้นตามหัวเมืองต่างๆ เพื่อช่วยเหลือเด็กที่ตกเป็นเหยื่อความรุนแรงที่มีอยู่ทั่วประเทศ
นางวีรวรรณ กล่าวอีกว่า การสร้างสังคมไทยจิตอาสาเป็นอีกหนึ่งประเด็นสำคัญที่จะช่วยแก้ปัญหาการค้ามนุษย์ ต้องเริ่มจากระบบการศึกษาไทย ควรบรรจุหลักสูตร ปลูกฝังเยาวชนให้มีจิตอาสาช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ และสร้างกลไกป้องกันเด็กที่ตกเป็นเหยื่อทางอินเทอร์เน็ต ซึ่งพบเหยื่อมีอายุน้อยลง เพราะเข้าถึงสื่อลามกง่ายขึ้น จนนำไปสู่การถูกหลอกลวงผ่านโลกโซเชียล สิ่งเหล่านี้นอกจากผู้ปกครองต้องใส่ใจบุตรหลานตนเองแล้ว สถาบันการศึกษาต้องมีระบบป้องกันอย่างเข้มงวดเนื่องจากวัยเด็ก จะใช้เวลาส่วนใหญ่อยู่ในโรงเรียน.-สำนักข่าวไทย
