ขอนแก่น 30 มี.ค. – “วราวุธ” นำ พม. ประชุมเชิงปฏิบัติการ ศบปภ. ภาคอีสาน 20 จังหวัด จัดทำแผนงานดูแลกลุ่มเปราะบางจากภัยพิบัติ เผยส่งทีมสหวิชาชีพเยี่ยมครอบครัว-เยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุแผ่นดินไหว-ตึกถล่ม
นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (รมว.พม.) เป็นประธานการประชุมเชิงปฏิบัติการศูนย์บริหารการดูแลกลุ่มเปราะบางจากภัยพิบัติ (ศบปภ.) หรือ Disaster Care Center for the Vulnerable (DCCV) เพื่อบูรณาการบริหารการดูแลกลุ่มเปราะบางจากภัยพิบัติ พื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 20 จังหวัด ซึ่งเตรียมการมานานหลายเดือนแล้ว เพื่อเป็นศูนย์กลางในการให้ความช่วยเหลือ ดูแล และเยียวยากลุ่มเปราะบางจากภัยพิบัติเชิงรุก ซึ่งมีนายธเนศพล ธนบุณยวัฒน์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวง พม., นายนิกร จำนง ประธานคณะที่ปรึกษาติดตามและเร่งรัดการขับเคลื่อนนโยบาย รมว.พม., ศ.ดร.กนก วงษ์ตระหง่าน รองประธานคณะที่ปรึกษาติดตามและเร่งรัดการขับเคลื่อนนโยบาย รมว.พม. พร้อมคณะที่ปรึกษา, นายอนุกูล ปีดแก้ว ปลัดกระทรวง พม. พร้อมคณะผู้บริหาร เข้าร่วม
นายวราวุธ กล่าวว่า คณะผู้บริหารกระทรวง พม. ได้มาที่จังหวัดขอนแก่น เพื่อประชุมกับทางทีม พม. 20 จังหวัดในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เกี่ยวกับเรื่องการดูแลกลุ่มเปราะบางเมื่อเกิดภัยพิบัติขึ้น โดยกระทรวง พม. ได้จัดตั้งศูนย์บริหารการดูแลกลุ่มเปราะบางจากภัยพิบัติ (ศบปภ.) ซึ่งได้เริ่มดำเนินการในช่วงปลายปีที่แล้ว และได้มีการประชุมเชิงปฏิบัติการ ศบปภ. ที่ภาคใต้ ที่จังหวัดสงขลา โดยได้ทำงานทันที เพราะว่าหลังจากประชุมเสร็จแล้วภายใน 2 วันเท่านั้นก็เกิดสถานการณ์อุทกภัยใหญ่ในพื้นที่ภาคใต้ และเมื่อช่วงต้นปี 2568 ได้ไปประชุมเชิงปฏิบัติการ ศบปภ. ที่ภาคเหนือจังหวัด ที่เชียงใหม่ และวันนี้กระทรวง พม. ได้มาประชุมเชิงปฏิบัติการ ศบปภ. ที่จังหวัดขอนแก่น เพื่อดูแลกลุ่มเปราะบาง ไม่ว่าจะเป็นผู้สูงอายุ คนพิการ เด็กเล็ก หรือสตรีแม่เลี้ยงเดี่ยวที่มีความยากลำบากในการใช้ชีวิตประจำวัน เมื่อเกิดภัยพิบัติขึ้น ทั้งวาตภัย อุทกภัย หรือแผ่นดินไหวที่เพิ่งเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 28 มี.ค. โดยจากนี้ไปบทบาทการทำงานของกระทรวง พม. จะไม่ใช่วิ่งตามปัญหา แต่เราจะเข้าไปช่วยป้องกันและบรรเทาความเดือดร้อนที่จะเกิดขึ้น เพราะยิ่งเตรียมตัวดีเท่าไร ยิ่งสะท้อนให้เห็นถึงการฟื้นฟูและการเยียวยาจะทำน้อยลงไป ซึ่งเราเชื่อว่าการป้องกันย่อมดีกว่าการแก้ไข และมีประสิทธิภาพมากกว่า โดยแต่ละจังหวัดของทีม พม. ในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีข้อมูลที่ถูกต้อง มีการเตรียมตัว การดำเนินการ และมีการทำแผนที่พื้นที่เสี่ยงของกลุ่มเปราะบางอย่างไรบ้าง
ผู้สื่อข่าวถามว่า บุคลากรของกระทรวง พม. มีความตระหนักรู้เกี่ยวกับการจัดการภัยพิบัติในการเข้าไปช่วยเหลือกลุ่มเปราะบางได้อย่างทันท่วงทีอย่างไร นายวราวุธ กล่าวว่า เจ้าหน้าที่กระทรวง พม. ได้เริ่มเห็นการเปลี่ยนแปลงในการทำงานของกระทรวง พม. มากขึ้น และได้รับเสียงสะท้อนจากกระทรวงอื่นที่รับรู้ถึงความเปลี่ยนแปลงในการทำงาน ทั้งในระดับประเทศและนานาชาติ ซึ่งมีองค์กรระหว่างประเทศเข้ามาทำงานร่วมกันไม่ว่าจะเป็น กองทุนประชากรแห่งสหประชาชาติ (UNFPA) องค์การเพื่อการส่งเสริมความเสมอภาคระหว่างเพศและเพิ่มพลังของผู้หญิงแห่งสหประชาชาติ (UN Women) สำนักงานโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP) หรือแม้แต่ ธนาคารโลก (World Bank) ที่เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ที่เริ่มเข้ามาดูมิติสังคมในช่วงปีที่ผ่านมา
นายวราวุธ กล่าวว่า ตนเชื่อมั่นว่าข้าราชการและเจ้าหน้าที่กระทรวง พม. ตระหนักถึงความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น ไม่ใช่เฉพาะเพียงกับโลกใบนี้ แต่การทำงานของเราจะต้องหมุนและตามให้ทันกับสถานการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นที่เปลี่ยนแปลงอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน สำหรับการดูแลกลุ่มเปราะบางที่ได้รับผลกระทบจากแผ่นดินไหว โดยเฉพาะอุบัติเหตุใหญ่คือตึกถล่ม ที่ย่านจตุจักรนั้น กระทรวง พม. นำทีมโดยปลัดกระทรวง พม. ได้ลงพื้นที่เพื่อไปตั้งจุดบริการประชาชนของศูนย์เร่งรัดจัดการสวัสดิภาพประชาชน (ศรส.) ในพื้นที่เกิดเหตุตึกถล่ม เพื่อบริการพี่น้องประชาชนที่ติดตามญาติที่สูญหายหรือเสียชีวิต และจะมีการติดต่อเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ดังกล่าวต่อไป ซึ่งบางรายกระทรวง พม. สามารถติดตามไปจนถึงจังหวัดภูมิลำเนาได้เรียบร้อยแล้ว และส่งทีม พม.จังหวัด ซึ่งมีทีมสหวิชาชีพ อาทิ นักสังคมสงเคราะห์ นักจิตวิทยา เข้าไปช่วยเหลือเยียวยา เพราะว่าอุบัติเหตุที่เกิดครั้งนี้บางครอบครัวยังไม่สามารถทำใจได้ จึงเป็นช่วงเวลาที่สำคัญที่กระทรวง พม. ต้องเข้าไปช่วยเหลือเยียวยา โดยไม่ใช่ช่วยเหลือแค่หน้างาน แต่ต้องช่วยเหลือไปจนถึงภูมิลำเนาของแต่ละบุคคล เพื่อที่จะได้เร่งเยียวยาครอบครัวโดยเร็วที่สุด
นายวราวุธ กล่าวว่า ขณะนี้ศูนย์เร่งรัดจัดการสวัสดิภาพประชาชน (ศรส.) กำลังเร่งตรวจสอบข้อมูลผู้สูญหาย ผู้เสียชีวิต และผู้บาดเจ็บ พร้อมสืบค้นข้อมูลที่อยู่ และเบอร์โทรศัพท์ของญาติพี่น้อง เพื่อประสานการลงพื้นที่เยี่ยมบ้านในการเยียวยาสภาพจิตใจและให้ความช่วยเหลือด้านสิทธิสวัสดิการสังคมต่างๆ ของกระทรวง พม.
สำหรับผู้สูญหายทราบข้อมูลเบื้องต้นว่ามีภูมิลำเนาอยู่ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร สุพรรณบุรี พิษณุโลก อุตรดิตถ์ หนองบัวลำภู ร้อยเอ็ด อุทัยธานี และเพชรบูรณ์ ซึ่งตนได้กำชับพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดที่เป็นภูมิลำเนาของผู้สูญหาย เร่งลงพื้นที่เยี่ยมบ้านเพื่อประเมินทางสังคม โดยเฉพาะการเยียวยาสภาพจิตใจ พร้อมทั้งประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ความช่วยเหลือในด้านต่างๆ โดยด่วน
อย่างไรก็ตาม ได้รับรายงานว่าทีม ศรส.จังหวัดร้อยเอ็ด ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ ได้เยี่ยมบ้านผู้สูญหาย 2 ราย เป็นชายอายุประมาณ 18 ปี ทั้งคู่เป็นนักศึกษาฝึกงาน โดยในเบื้องต้นได้พูดคุยให้กำลังใจครอบครัว พร้อมมอบเงินช่วยเหลือครอบครัวผู้ประสบปัญหาทางสังคมกรณีฉุกเฉิน มอบถุงยังชีพเครื่องอุปโภคบริโภค ประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและอาสาสมัครพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (อพม.) ในพื้นที่ติดตามให้ความช่วยเหลืออย่างใกล้ชิดต่อไป และหากประชาชนต้องการความช่วยเหลือเร่งด่วนในสถานการณ์วิกฤติขอให้แจ้งศูนย์เรื่องการจัดการสวัสดิภาพประชาชน (ศรส.) กระทรวง พม. ผ่านสายด่วน พม. โทร.1300 บริการตลอด 24 ชั่วโมง โดยพร้อมประสานหน่วยงานเกี่ยวข้องเพื่อดำเนินการช่วยเหลืออย่างเต็มที่.-319-สำนักข่าวไทย