รัฐสภา 13 ก.ค.- สนช. มีมติเห็นชอบร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วย กกต.ฉบับกรรมาธิการร่วมปรับแก้ ขณะที่ กรรมาธิการร่วม ย้ำ การการเซตซีโร่ กกต.ไม่ขัดรัฐธรรมนูญ หรือหลักนิติธรรมตามที่ กกต. อ้าง
การประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) วันนี้ (13 ก.ค.) มีนายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธาน สนช. เป็นประธานการประชุม มีวาระพิจารณาร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ฉบับที่คณะกรรมาธิการวิสามัญตามมาตรา 267 วรรคห้าของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย หรือคณะกรรมาธิการร่วมพิจารณาเสร็จแล้ว ซึ่งกรรมาธิการเสียงข้างมากมีมติยืนตามร่างเดิมที่ผ่าน สนช.วาระ 3
นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธาน สนช.ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการร่วม ชี้แจงต่อที่ประชุม สนช.ว่า กรรมาธิการเสียงข้างมากเห็นว่า ทั้ง 6 ประเด็นข้อโต้แย้งของ กกต. ตรงตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญแล้ว
ขณะที่ นายศุภชัย สมเจริญ ประธาน กกต. ในฐานะกรรมาธิการเสียงข้างน้อย ได้สงวนความเห็นในชั้นกรรมาธิการ พร้อมชี้แจง 6 ข้อโต้แย้งต่อที่ประชุมเป็นรายประเด็น ว่า ข้อโต้แย้งประเด็นแรก มาตรา 11 วรรคสาม การกำหนดคุณสมบัติ และลักษณะต้องห้ามของคณะกรรมการสรรหา กกต. ที่ให้มีความเป็นกลาง ซื่อสัตย์สุจริต มีความเข้าใจในภารกิจของ กกต. และไม่มีพฤติการณ์ยอมตนอยู่ใต้อาณัติของพรรคการเมืองใดๆ และ ประเด็นที่ 2 มาตรา 12 วรรคหนึ่ง เรื่องคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของ กกต. ที่กำหนดว่า ต้องไม่มีพฤติการณ์ยอมตนอยู่ในอาณัติของพรรคการเมืองใดๆ รวมตลอดทั้งมีทัศนคติที่เหมาะสมในการปฏิบัติหน้าที่ให้เกิดผลสำเร็จ เป็นการเขียนเกินกว่าที่รัฐธรรมนูญกำหนด
ส่วนประเด็นที่ 3 มาตรา 26 เรื่องอำนาจหน้าที่ของ กกต. แต่ละคนในการสั่งระงับ เมื่อเห็นว่าการเลือกตั้งไม่สุจริต และเสนอต่อที่ประชุม กกต. เพื่อวินิจฉัยนั้น ไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ เพราะรัฐธรรมนูญกำหนดอำนาจหน้าที่ของ กกต. เพียงคนเดียวสามารถสั่งระงับยับยั้ง หรือสั่งเลือกตั้งใหม่ได้ ประเด็นที่ 4 มาตรา 27 กำหนดให้ กกต.เป็นผู้ควบคุมดูแลการจัดการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่น หรือผู้บริหารท้องถิ่น ไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ เพราะรัฐธรรมนูญกำหนดให้ กกต.มีอำนาจหน้าที่เป็นผู้จัดการเลือกตั้ง
ประเด็นที่ 5 มาตรา 42 วรรคหนึ่ง ที่กำหนดว่า กกต. มอบอำนาจให้เลขาธิการ กกต. หรือพนักงานของสำนักงาน มีอำนาจสืบสวนสอบสวนและไต่สวน แต่รัฐธรรมนูญกำหนดให้อำนาจ กกต. สืบสวนสอบสวนได้ และประเด็นที่ 6 มาตรา 70 ที่ให้ กกต.ชุดปัจจุบันพ้นจากตำแหน่งทั้งคณะ กกต. เห็นว่า ไม่ตรงตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ เพราะขัดหลักนิติธรรม และเป็นการเลือกปฏิบัติ อีกทั้ง ยังไม่ทราบว่า ผู้ดำรงตำแหน่งองค์กรอิสระอื่นๆ จะต้องถูกเซ็ตซีโร่เหมือน กกต.หรือไม่
“สนช.เป็นสภาศักดิ์สิทธิ์ บทบัญญัติใดขัดต่อรัฐธรรมนูญ สมาชิก สนช.ควรไต่ตรองให้ดี โดยเฉพาะทั้ง 6 ประเด็นดังกล่าวว่า เป็นไปตามรัฐธรรมนูญและหลักนิติธรรมหรือไม่ เพื่อให้การออกกฎหมายองค์กรอิสระอื่นเป็นไปตามมาตรฐานเดียวกัน ไม่เป็นการเลือกปฏิบัติ” นายศุภชัย กล่าว
ด้าน กรรมาธิการร่วมเสียงข้างมาก ชี้แจงว่า คุณสมบัติ และลักษณะต้องห้ามของคณะกรรมการสรรหา กกต. รวมทั้ง คุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของ กกต. ที่กำหนดในร่างดังกล่าว เป็นการขยายความบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญให้ชัดเจนมากขึ้น พร้อมทั้งเป็นหลักเกณฑ์ให้คณะกรรมการสรรหาได้พิจารณา ถือว่า ไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญแต่อย่างใด
ส่วนเรื่องอำนาจหน้าที่ของ กกต. แต่ละคนในการสั่งระงับ เมื่อเห็นว่าการเลือกตั้งไม่สุจริต และเสนอต่อที่ประชุม กกต. เพื่อวินิจฉัยนั้น กรรมาธิการร่วมเสียงข้างมาก ยืนยันว่า อำนาจและหน้าที่ของ กกต.คนเดียวยังคงมีอยู่ แต่ต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่ กกต.กำหนด ในร่างดังกล่าวเพียงแค่ขยายความเพิ่มเติมจากรัฐธรรมนูญ ซึ่ง สนช.เขียนข้อสังเกตไว้แล้วว่า ให้ กกต.ปฏิบัติหน้าที่ โดยยึดทั้งรัฐธรรมนูญและกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญด้วย ดังนั้น กกต.จึงยังมีอำนาจตามรัฐธรรมนูญทุกประการ
สำหรับมาตรา 27 ที่ กกต.โต้แย้งนั้น กรรมาธิการน่วมเสียงข้างมาก ระบุว่า ร่างดังกล่าวบัญญัติว่า ให้อำนาจ กกต.สามารถมอบหมายให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หรือหน่วยงานอื่น ดำเนินการจัดการเลือกตั้งท้องถิ่นได้ แต่ไม่ได้บังคับว่า กกต.จะต้องมอบอำนาจ ดังนั้น กกต.จะไม่มอบอำนาจให้หน่วยงานอื่นก็ได้ หาก กกต.สามารถดำเนินการจัดได้เอง
ขณะที่ อำนาจสืบสวนสอบสวนและไต่สวนของ กกต.นั้น กรรมาธิการร่วมเสียงข้างมาก ย้ำว่า กกต.ยังมีอำนาจการสืบสวนสอบสวนอยู่ เพียงแต่เพิ่มการมอบอำนาจให้เลขาธิการ กกต. หรือพนักงานของสำนักงานได้ เพื่อความสะดวกในการทำงาน
ส่วนประเด็นการเซ็ตซีโร่ กกต. กรรมาธิการร่วมเสียงข้างมาก ย้ำว่า ได้พิจารณาด้วยจิตใจที่สะอาด สว่าง สงบ ปราศจากอคติ รวมทั้งพิจารณาจากโครงสร้าง และอำนาจหน้าที่ของ กกต. เป็นหลัก ไม่ได้ดูที่ตัวบุคคล และรัฐธรรมนูญไม่ได้บัญญัติให้ กกต.ชุดปัจจุบันดำรงตำแหน่งต่อไป ดังนั้น การเซ็ตซีโร่ กกต.จึงไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ หรือขัดต่อหลักนิติธรรมตามที่ กกต. อ้าง
จากนั้น ที่ประชุม สนช.มีมติเห็นชอบร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วย กกต.ตามที่คณะกรรมาธิการร่วมพิจารณาเสร็จแล้ว ด้วยคะแนน 194 เสียง งดออกเสียง 7 เสียง โดยขั้นตอนต่อไป สนช.จะส่งร่างกฎหมายฉบับนี้ให้นายกรัฐมนตรี เพื่อเตรียมนำขึ้นทูลเกล้าฯ ก่อนประกาศใช้เป็นกฎหมายต่อไป .- สำนักข่าวไทย