ก.แรงงาน 11 ก.ค.-ปลัดฯแรงงาน เผยยังไม่มีข้อสรุปเรื่องการขยายเวลารับเงินชราภาพ จาก 55ปีเป็น 60ปี จะเน้นประโยชน์สูงสุดของผู้ประกันตนเกิดการออมมากขึ้นและไม่บังคับ ด้านเลขา สปส.เผยเบื้องต้นคณะทำงานเสนอ 2 รูปแบบสร้างแรงจูงใจ รับเงินชราภาพ
ม.ล.ปุณฑริก สมิติ ปลัดกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า การขยายระยะเวลาในการรับเงินชราภาพจาก 55 ปีเป็น 60 ปี ยังอยู่ในกระบวนการพิจารณาพิจารณา โดยให้อนุกรรมการฯไปดำเนินการและยังไม่มีข้อสรุป ต้องรับฟังความคิดเห็นประชาชนก่อนแต่หลักการสำคัญเน้นผู้ประกันตนได้ประโยชน์ สูงสุดและเกิดการออมมากขึ้น มีช่องทางให้ผู้ประกันตนเลือก แบบสมัครใจ และจะไม่มีการบังคับ
ด้าน นพ.สุรเดช วลีอิทธิกุล เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม(สปส.) กล่าวว่า เบื้องต้นคณะทำงานได้เสนอ 2 แนวทางสำหรับการสร้างแรงจูงใจ มาให้พิจารณา รูปแบบที่ 1การสร้างแรงจูงใจให้ผู้ประกันตน ขยายระยะ เวลาการเกษียณออกไป ยกตัวอย่างเมื่อครบกำหนดอายุ 55 ปีแต่ต้องการจะเกษียณที่ 56 ปีสำนักงานประกันสังคมจะจ่ายเงินที่จะต้องได้รับไปก่อน จำนวน 10 เดือนและผู้ประกันตนก็ยังได้รับเงินเดือนขณะที่ยังทำงานต่อไป หรือเมื่อถึงอายุ 56 ที่จะเกษียณแล้วยังต้องการอยู่ต่อไปเกษียณ ที่อายุ 57 ปี สำนักงานประกันสังคมก็จะจ่ายเงินส่วนที่จะได้รับให้อีก 10 เดือน และก็ยังได้รับเงินเดือน ในขณะที่ยังทำงานอยู่ฯลฯจะเห็นว่าผู้ประกันตนจะได้รับทั้งเงินก้อนเมื่อยืดระยะเวลาเกษียณ และเงินเดือนในขณะที่ทำงานอยู่
ส่วนรูปแบบที่ 2 เป็นการให้ผู้ประกันตน รับเงินชราภาพ เมื่อายุครบ 55 ปีตามเดิม และเมื่อกฏหมายใหม่ ที่จะขยายระยะเวลา รับเงินชราภาพเป็น 60 ปี มีผลบังคับใช้ ผู้ประกันตนใหม่ จะเข้าเงื่อนไข รับเงินชราภาพ เมื่ออายุ 60 ปี ส่วนผู้ประกันตนที่ครบอายุ 55 ปีแต่ต้องการออมเงินต่อ ไปจนถึง 60 ปี ก็สามารถสมัครเข้า ตามเงื่อนไขใหม่ได้ทันที
ทั้งนี้ มอบหมายให้อนุกรรมการฯไปดำเนินการรวบรวมข้อมูล และจัดทำข้อสรุป ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการเดินสาย รับฟังความคิดเห็นจากสังคม และผู้ประกันตน ทุกภาค ทั่วประเทศ หลังจากนั้นจะนำมาปรับปรุงให้เกิดประโยชน์กับผู้ประกันตน แต่หากไปรับฟังข้อคิดเห็นแล้ว ผู้ประกันตนมีข้อเสนอที่ดี สำนักงานประกันสังคมก็จะนำมาประกอบการพิจารณาด้วย โดยจะมีตัวแทนจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ร่วมจัดทำแนวทางครั้งนี้ด้วย คาดว่าจะแล้วเสร็จประมาณเดือน สิงหาคม 2560และนำเสนอ ที่ประชุมบอร์ดประกันสังคมอีกครั้งหนึ่ง
“การดำเนินการเรื่องนี้ จะทำแบบค่อยเป็นค่อยไป ใช้ระยะเวลาประมาณ 7 ปี และขอย้ำอีกครั้ง เงินกองทุนฯเพียงพอ มีสำหรับการจ่ายให้ผู้ประกันตน ไปอีก 37 ปี การดำเนินการครั้งนี้ เพื่อสร้างความมั่นคงทางการเงินให้กับผู้ประกันตน รุ่นลูกรุ่นหลาน ของเรา ให้มีการดำรงชีพที่มั่นคง และต้องมีการปรับปรุงสิทธิประโยชน์ให้กับ ผู้ประกันตนทุกประเภท ในอนาคตด้วยเช่นกัน” เลขาธิการ สปส. กล่าว .-สำนักข่าวไทย