สงขลา 9 ก.ค.-ส้มจุกเคยเป็นผลไม้ที่ขึ้นชื่อและมีการปลูกแพร่หลายในพื้นที่ อ.จะนะ จ.สงขลา แต่ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา มีพื้นที่ปลูกลดลงอย่างมาก เนื่องจากประสบปัญหาโรคระบาด และเกษตรกรส่วนใหญ่หันไปปลูกยางพาราเป็นพืชเศรษฐกิจแทน แต่ด้วยรสชาติที่เป็นอัตลักษณ์เฉพาะตัวของส้มจุกจะนะ และการปลูกที่แทบจะไม่ใช้สารเคมี ทำให้จังหวัดสงขลากำลังมีการฟื้นฟูให้เกษตรกรหันมาปลูกอีกครั้ง
กำนันมะ หรือนาย มะหะหมัด โต๊ะยะลา กำนันตำบลป่าชิง เกษตรกรชาวสวนส้มจุก อ.จะนะ จ.สงขลา แนะนำวิธีการห่อผลส้มจุก เพื่อป้องกันแมลงศัตรูพืชเจาะทำลายผิวและผลส้ม ด้วยการห่อถุงพลาสติกหรือกระดาษ พร้อมเจาะรูระบายน้ำและความชื้นออกจากถุง ซึ่งต้องเริ่มทำตั้งแต่ผลส้มยังมีขนาดเล็ก ส้มของที่นี่ไม่ใช่สารเคมีและยาฆ่าแมลง ใช้ปุ๋ยคอก ปุ๋ยหมัก บำรุงต้นต่อเนื่อง ทำให้ส้มมีความหวานตามธรรมชาติ และดินที่มีปริมาณธาตุกำมะถันสูง ทำให้ส้มจุกของที่นี่มีความแตกต่างจากส้มจุกทั่วไป มีกลิ่นหอมมาก รสชาติดีหวานอมเปรี้ยวเล็กน้อย เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว
อ.จะนะ มีการปลูกส้มจุกมานานกว่า 100 ปี แต่ที่ผ่านมามีพื้นที่ปลูกลดลงอย่างต่อเนื่อง จังหวัดสงขลาจึงได้ส่งเสริมให้เกษตรกรในพื้นที่หันมาปลูกส้มจุกให้เพิ่มมากขึ้น และปัจจุบันมีพื้นที่ปลูกแล้วกว่า 210 ไร่ ส้มจุกปลูกง่าย เติบโตได้ดี ราวปีที่ 3-5 ก็สามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ ระยะปลูก 7X7 ม. ไร่ละ 33 ต้น ส่วนใหญ่เกษตรกรจะใส่ปุ๋ยคอกช่วงเดือนเมษายน พฤษภาคม หรือเข้าสู่ฤดูฝน จะเริ่มออกดอก อีก 8 เดือนสามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ ส้มจุกจะนะส่วนใหญ่จะได้รับการส่งเสริมให้ใช้สารชีวภาพและปุ๋ยอินทรีย์เป็นหลัก เพื่อความปลอดภัยของเกษตรกรและผู้บริโภค ซึ่งหากมีการดูแลต่อเนื่อง ต้นส้มจะให้ผลผลิตถึง 100-200 กก./ต้น/ปี
ปัจจุบัน จังหวัดสงขลายังมีนโยบายที่จะพัฒนาคุณภาพส้มจุกให้เป็นสินค้าคุณภาพเกรดพรีเมี่ยม ผลักดันให้เป็นผลไม้ของฝากพืชอัตลักษณ์ของจังหวัดสงขลา เพื่อให้เป็นที่รู้จักแพร่หลายเพิ่มขึ้น ด้วยความหวังให้เกษตรกรในพื้นที่มีอาชีพและความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นด้วย.-สำนักข่าวไทย