รัฐสภา 4 ก.ค.- กรรมาธิการร่วม กฎหมายลูก กกต.มีมติเสียงข้างมาก ยืนตามร่างที่สนช.เห็นชอบวาระ 3 คาด เสนอรายงานต่อที่ประชุม สนช.สัปดาห์หน้า เชื่อ สนช.ไม่คว่ำร่างเพื่อยื้อเลือกตั้ง
นายสมชาย แสวงการ โฆษกกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) หรือ กรรมาธิการร่วม 3 ฝ่าย แถลงผลภายหลังการพิจารณา นัดแรก วันนี้ (4 ก.ค.) ว่า ที่ประชุมมีมติเสียงข้างมากให้ยึดเนื้อหาร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วย กกต. ตามที่สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มีมติให้ความเห็นชอบวาระ 3 ทั้ง 6 ประเด็น หลัง กกต. มีความเห็นโต้แย้งมา แต่นายศุภชัย สมเจริญ ประธาน กกต.ในฐานะกรรมาธิการเสียงข้างน้อย ได้ขอสงวนความเห็นไว้ทุกประเด็นเช่นกัน
นายสมชาย กล่าวว่า ประเด็นแรก มาตรา 11 วรรคสาม เรื่องคุณสมบัติ และลักษณะต้องห้ามของคณะกรรมการสรรหา กกต. ที่ กกต.มองว่า เขียนเกินกว่าที่รัฐธรรมนูญกำหนดนั้น ที่ประชุมเห็นว่า ไม่มีบทบัญญัติใดขัดต่อรัฐธรรมนูญ จึงมีมติเสียงข้างมาก ยืนตามร่างที่ สนช.เห็นชอบวาระ 3 ด้วยคะแนน 8 ต่อ 1 เสียง งดออกเสียง 1 เสียง ซึ่งที่คะแนนเสียงหายไป 1 คะแนนในการลงมติประเด็นแรก เนื่องจาก นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) 1 ในกรรมาธิการร่วม ยังไม่เข้าประชุม
นายสมชาย กล่าวว่า ส่วนอีก 5 ประเด็นโต้แย้งที่เหลือ ทั้งมาตรา 12 วรรคหนึ่ง เรื่องคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของกกต. มาตรา 26 เรื่องอำนาจหน้าที่ของ กกต. แต่ละคนในการสั่งระงับ เมื่อเห็นว่าการเลือกตั้งไม่สุจริต มาตรา 27 อำนาจหน้าที่ของ กกต.ในการควบคุมดูแลการจัดการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่น หรือผู้บริหารท้องถิ่นขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หรือหน่วยงานอื่นของรัฐ
นายสมชาย กล่าวว่า มาตรา 42 วรรคหนึ่ง การมอบอำนาจให้เลขาธิการ กกต. หรือพนักงานของสำนักงาน มีอำนาจสืบสวนสอบสวน และไต่สวน และมาตรา 70 กรณีการเซตซีโร่ กกต.ชุดปัจจุบันนั้น นายมีชัย ได้เดินทางเข้าร่วมประชุมด้วย ที่สุดแล้ว ที่ประชุมเห็นว่า ไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญเช่นกัน จึงมีมติเสียงข้างมากยืนตามร่างที่ สนช.เห็นชอบวาระ 3 ด้วยคะแนน 9 ต่อ 1 เสียง งดออกเสียง 1 เสียง
“คณะกรรมาธิการร่วม 3 ฝ่าย ได้นัดประชุมครั้งต่อไป วันศุกร์ที่ 7 กรกฎาคมนี้ เวลา 13.00 น. เพื่อตรวจทานรายงานครั้งสุดท้าย ก่อนจะเสนอให้ประธาน สนช. นำบรรจุเข้าสู่วาระการประชุม สนช. สัปดาห์หน้า ซึ่งจะเป็นการลงมติครั้งเดียวทั้งฉบับ ไม่แยกรายมาตรา” นายสมชาย กล่าว
นายสมชาย กล่าวว่า การพิจารณาในชั้นกรรมาธิการร่วม ไม่จำเป็นจะต้องใช้เวลาเต็มจำนวน 15 วัน ตามที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ และเชื่อว่า สนช. จะไม่ลงมติ เพื่อคว่ำร่างกฎหมายฉบับนี้ เพื่อยื้อเวลาการเลือกตั้งออกไป หรืออ้างประเด็นใดประเด็นหนึ่ง เพื่อคว่ำร่างกฎหมาย เพราะหาก สนช. จะมีมติคว่ำร่างกฎหมายฉบับนี้ ก็จะต้องชี้แจงเหตุผลต่อสังคมให้ได้ และในชั้นกรรมาธิการร่วม ก็จะไม่ปรับแก้จนเสียหลักการที่ สนช. ให้ความเห็นชอบไปก่อนหน้านี้
นายสมชาย ยังปฏิเสธที่จะให้ความเห็นว่า ในการพิจารณาร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. และ การได้มาซึ่ง ส.ว. สนช.อาจมีมติไม่เห็นชอบ เพื่อคว่ำ 2 ร่างกฎหมายดังกล่าวในชั้นกรรมาธิการร่วม เพื่อยื้อเวลาการเลือกตั้งออกไปหรือไม่ เพราะยังไม่เห็นทิศทางที่จะเป็นเช่นนั้น และคาดว่า ในการพิจารณาร่างกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญทั้ง 10 ฉบับ จะต้องมีการตั้งกรรมาธิการร่วม
ทั้งนี้ ตามรัฐธรรมนูญกำหนดว่า ในการลงมติร่างกฎหมายของกรรมาธิการร่วม หาก สนช. มีมติ ไม่เห็นชอบเกิน 2 ใน 3 ร่างกฎหมายฉบับนี้ จะต้องเป็นอันตกไป และ กรธ.จะต้องยกร่างมาเสนอ สนช. ใหม่ .- สำนักข่าวไทย