รัฐสภา 3 ก.ค. – สปท. เห็นชอบจัดระเบียบสื่อออนไลน์ทั้งระบบ ชง กสทช. ใช้ระบบแสกนนิ้ว และ ใบหน้า ควบคู่การใช้บัตรประชาชน ลงทะเบียนมือถือ และให้เปิดเผยข้อมูลส่วนตัวพื้นฐาน ขณะเดียวกัน ดึงสรรพากรใช้มาตรการจัดเก็บภาษีซื้อ-ขาย ผ่านสื่อออนไลน์ด้วย
ที่ประชุมสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) วันนี้ (3 มิ.ย.) พิจารณารายงานผลการศึกษาและข้อเสนอแนะการปฏิรูปการใช้สื่อโซเชียลมีเดีย ของคณะกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ด้านการสื่อสารมวลชน โดยพล.ต.ต.พิสิษฐ์ เปาอินทร์ รองประธานกรรมาธิการฯ เสนอแนวทางการปฏิรูปการใช้โซเชียล มีเดีย ในระยะเร่งด่วน ที่ต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในปี 2560-2562 คือ การจัดระบบการเข้าถึงสื่อออนไลน์
พล.ต.ต.พิสิษฐ์ กล่าวว่า จะต้องจัดระบบการเข้าถึงสื่อออนไลน์ ด้วยการเพิ่มมาตรการจัดระเบียบการลงทะเบียนโทรศัพท์มือถือ โดยเฉพาะระบบเติมเงิน โดยให้คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ปรับแผนที่จะใช้ลายนิ้วมือ ใบหน้า ควบคู่กับการลงทะเบียนโทรศัพท์มือถือด้วยบัตรประชาชน ที่จะเริ่มใช้บังคับในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ให้ปรับเปลี่ยนมาใช้บังคับในทุกจังหวัดทั่วประเทศ เพื่อให้การบังคับใช้เป็นไปอย่างครอบคลุม และเป็นผลดีต่อการรักษาความปลอดภัยในทุกพื้นที่ รวมทั้ง ให้มีการจำกัดจำนวนการลงทะเบียนการใช้ซิมของบุคคลให้เหมาะสม เพื่อป้องกันการกว้านซื้อซิม เพื่อประโยชน์เชิงพาณิชย์
พล.ต.ต.พิสิษฐ์ กล่าวว่า กรรมาธิการฯ ยังเสนอให้จัดตั้งศูนย์กลางบริหารจัดการข้อมูลผู้ใช้โทรศัพท์มือถือ เพื่อประโยชน์ในการตรวจสอบ โดยบริษัทที่ให้บริการโทรศัพท์มือถือ จะต้องส่งข้อมูลให้กับศูนย์กลางบริหารข้อมูลโทรศัพท์มือถือ ทุกครั้งที่มีการจดทะเบียนและยกเลิกการใช้งาน รวมทั้ง เปิดเผยข้อมูลพื้นฐานของผู้ครอบครองมือถือ เพื่อลดปัญหาการใช้สื่อออนไลน์ที่ไม่เหมาะสม ตลอดจนให้ระบบจัดเก็บข้อมูลของบริการ CDN (Content Delivery Network) และ Caching Server ของสื่อออนไลน์ต่างประเทศที่ติดตั้งในประเทศต้องขึ้นทะเบียนการให้บริการกับ กสทช. และต้องกำหนดให้จัดเก็บ log เพื่อประโยชน์ในการสืบสวนสอบสวนทางคดี
พล.ต.ต.พิสิษฐ์ กล่าวว่า กรรมาธิการฯ ยังเสนอให้มีการจัดตั้งศูนย์กลางเฝ้าระวัง โดยปรับภารกิจงานเฝ้าระวังของกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) มาให้กับกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ปอท.) เป็นผู้ดำเนินการแทน รวมทั้ง ให้กรมสรรพากรปรับปรุงกฎหมายประมวลรัษฎากร เร่งรัดการใช้มาตรการทางภาษีกับผู้ให้บริการสื่อออนไลน์ต่างประเทศโดยเร็ว เพื่อใช้ควบคู่กับการทำให้การบังคับใช้มาตรการเก็บภาษีผู้บริโภค กับการใช้โฆษณาหรือการซื้อขายผ่านสื่อออนไลน์ให้เป็นจริง โดยให้ถือว่าการประกอบธุรกิจออนไลน์ในไทยของต่างประเทศ อยู่ในเกณฑ์ต้องเสียภาษี
พล.ต.ต.พิสิษฐ์ กล่าวว่า กรรมาธิการฯ ยังเสนอให้ระยะยาวตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ต้องมีการปลูกจิตสำนึกที่ดี ให้ความรู้ในการใช้โซเชียลมีเดียกับประชาชน รวมถึ งการใช้มาตรการทางกฎหมายอย่างเข้มงวด โดยเฉพาะการออกกฎหมายคุ้มครองเด็กและเยาวชนในการใช้อินเตอร์เน็ต ที่จะต้องกำหนดอายุอย่างชัดเจน
“รายงานฉบับเป็นการเสนอมาตรการแก้ไขปัญหา หลังพบว่าสื่อออนไลน์ กลายเป็นเครื่องมือโฆษณาชวนเชื่อ ที่เกินความเป็นจริง มีการเผยแพร่สื่อลามกอนาจาร จนนำไปสู่ปัญหาการขายบริการทางเพศผ่านสื่อออนไลน์ รวมทั้ง การพนันและยาเสพติด และยังมีการนำสื่อออนไลน์ไปใช้ทางการเมือง จนส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ และการบริหารราชการของรัฐบาล รวมถึง สถาบันหลัก กลายเป็นปัญหาด้านความมั่นคงของประเทศ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สมาชิก สปท. ส่วนใหญ่อภิปรายสนับสนุน โดย พล.อ.เลิศรัตน์ รัตนวานิช สปท. กล่าวสนับสนุนรายงาน โดยเฉพาะข้อเสนอให้จำกัดจำนวนการลงทะเบียนเปิดซิมมือถือให้เหมาะสม เนื่องจากปัจจุบันพบผู้ครอบครองซิมเป็นจำนวนมาก เพื่อทำธุรกิจโหวตให้คะแนนการประกวดร้องเพลง หรือประกวดนางงาม ซึ่งไม่เป็นธรรมในการแข่งขัน
อย่างไรก็ตาม พล.อ.เลิศรัตน์ ไม่เห็นด้วยกับการเสนอให้นำระบบการแสกนนิ้วและใบหน้า มาใช้ควบคู่กับบัตรประชาชน เพื่อลงทะเบียนมือถือ เพราะมองว่าจำกัดสิทธิมนุษยชน และเกินกว่าเหตุ เนื่องจากบัตรประชาชนเพียงใบเดียว ก็สามารถยืนยันตัวตนและตรวจสอบได้ และไม่เห็นด้วยกับการให้เปิดเผยข้อมูลพื้นฐานส่วนตัวกับศูนย์กลางบริหารจัดการข้อมูลผู้ใช้โทรศัพท์มือถือ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่สุดแล้ว สปท.ลงมติด้วยคะแนน 144 ต่อ 1 เห็นชอบกับรายงานดังกล่าว ซึ่ง พล.อ.อ.คณิต สุวรรณเนตร ประธานกรรมาธิการฯ ระบุว่า จะรับฟังความเห็น แนบไปกับรายงานที่จะเสนอไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป .- สำนักข่าวไทย