กรุงเทพฯ 2 ก.ค. – กรมเจ้าท่าแจง พ.ร.บ.การเดินเรือฉบับใหม่ ไม่กระทบชุมชนริมน้ำ-กระชังเลี้ยงสัตว์น้ำ
ตามที่สื่อมวลชนเสนอข่าวกรณี พ.ร.บ.การเดินเรือในน่านน้ำไทย (ฉบับที่ 17) พ.ศ. 2560 ส่งผลกระทบกับชาวบ้านที่อยู่ชุมชนริมน้ำ รวมถึงตลาดน้ำทั่วประเทศ กฎหมายฉบับนี้ไม่เข้าใจปัญหาหรือสภาพความเป็นจริงที่เกิดขึ้นในสังคม นั้น กรมเจ้าท่าขอชี้แจงว่าเจตนารมณ์ของ พ.ร.บ.ฉบับดังกล่าวปรับปรุงแก้ไขเพื่อประโยชน์ในการบังคับใช้กฎหมาย เพื่อให้การควบคุมการปลูกสร้างสิ่งล่วงล้ำลำน้ำมีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยกำหนดโทษรุนแรงขึ้นต่อผู้ที่ฝ่าฝืนทำการก่อสร้างก่อนได้รับอนุญาต รวมทั้งมีการกำหนดโทษเจ้าหน้าที่ที่ไม่ดำเนินการต่อสิ่งปลูกสร้างล่วงล้ำ ลำน้ำภายในกำหนดเวลา
อย่างไรก็ตาม การมีผลใช้บังคับของ พ.ร.บ.ดังกล่าวอาจกระทบต่อวิถีชีวิตของผู้ที่อาศัยอยู่ริมลำน้ำ กรมเจ้าท่าจึงเสนอมาตรการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของผู้ได้รับผลกระทบไปยังกระทรวงคมนาคม และเมื่อวันที่ 27 มิถุนายนที่ผ่านมา คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) มีมติให้ออกคำสั่งตามมาตรา 44 ลดความเดือดร้อนของผู้ได้รับผลกระทบรวม 3 ประเด็น คือ 1.ขยายระยะเวลาการแจ้งการเป็นเจ้าของหรือครอบครองสิ่งปลูกสร้างล่วงล้ำลำน้ำที่ไม่ได้รับอนุญาตหรือได้รับอนุญาต แต่สร้างไม่เป็นตามที่ได้รับอนุญาตออกไปอีก 60 วัน เพื่อเปิดโอกาสให้ประชาชนที่ยังไม่ได้แจ้งภายในกำหนดของ พ.ร.บ.ฉบับดังกล่าวสามารถแจ้งได้โดยไม่ต้องรับผิดตามโทษที่สูงขึ้น 2.ผู้ที่มาแจ้งภายในกำหนดใหม่จะไม่มีโทษย้อนหลังในเรื่องค่าปรับ และ 3.ลดค่าตอบแทนรายปีสิ่งปลูกสร้างล่วงล้ำลำน้ำที่ต้องจ่ายให้กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นลงเหลือตารางเมตรละ 5 บาท/ปี สำหรับกระชังเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำได้รับการยกเว้นไม่ต้องชำระค่าตอบแทนรายปี
ทั้งนี้ กรมเจ้าท่ามีการกำหนดมาตรการป้องกันและตรวจสอบการใช้ดุลพินิจของเจ้าหน้าที่ไม่ให้เจ้าหน้าที่สามารถหาประโยชน์จากการอนุญาตให้ก่อสร้างสิ่งล่วงล้ำลำน้ำ ผ่านกลไกด้านกฎหมายและการออกแบบขั้นตอนการอนุญาต โดยมีการออกกฎกระทรวง ฉบับที่ 63 (พ.ศ.2537) กำหนดหลักเกณฑ์ ประเภทสิ่งปลูกสร้างที่พึงอนุญาตได้ และวิธีการในการพิจารณาอนุญาต นอกจากนี้ ยังมีคู่มือปฏิบัติงานและมีการซักซ้อมทำความเข้าใจในการปฏิบัติอย่างต่อเนื่อง เพื่อจำกัดการใช้ดุลพินิจของเจ้าหน้าที่ผู้พิจารณา และมีการออกแบบกระบวนการพิจารณาให้มีการถ่วงดุลและ สอบทานความถูกต้อง โดยกำหนดให้เจ้าหน้าที่ผู้พิจารณาต้องเสนอความเห็นต่อผู้บังคับบัญชา ในกรณีของสิ่งล่วงล้ำลำน้ำที่มีขนาดใหญ่ อาทิ ท่าเรือ สะพานข้ามแม่น้ำ กำหนดบังคับให้ต้องผ่านการพิจารณาในรูปของคณะกรรมการหลายฝ่าย เพื่อให้มั่นใจได้ว่าในการอนุญาตมีความถูกต้องและได้มีการปฏิบัติตามที่ระเบียบและกฎหมายที่เกี่ยวข้องบัญญัติไว้ครบถ้วน.-สำนักข่าวไทย